หลักสูตรแฝง
โดยทั่วไปเราอาจจะคุ้นเคยกับคำว่า
“หลักสูตร” ซึ่งตามพจนานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า
หลักสูตร (curriculum) หมายถึง
แผนการจัดการศึกษาที่ประมวลเนื้อหาสาระ ประสบการณ์ และกิจกรรมต่าง ๆ โดยมีองค์ประกอบสำคัญ
ได้แก่ หลักการ จุดหมาย สาระการเรียนรู้ แนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้
สื่อการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนมีพัฒนาการต่าง
ๆ ตามจุดหมายที่กำหนดไว้
ซึ่งเป็นความหมายหลักพื้นฐานที่ผู้เกี่ยวข้องกับศึกษาน่าจะทราบกันดีอยู่แล้ว
แต่คำว่า หลักสูตรแฝง ที่เป็นหัวข้อในวันนี้ คืออะไรนั้น
พจนานุกรมเล่มดังกล่าวอธิบายว่า หลักสูตรแฝง (hidden curriculum) หมายถึง ความรู้ ความเข้าใจ และการเรียนรู้ต่าง ๆ
ที่มิได้กำหนดเป็นลายลักษณ์อักษร
เกิดเพิ่มขึ้นเมื่อผู้เรียนได้รับสาระและประสบการณ์ตามที่หลักสูตรกำหนด
นับเป็นการเรียนรู้ที่แฝงหรือซ่อนอยู่ในหลักสูตร
หากจะอธิบายให้ชัดเจนยิ่งขึ้นคือ
เหตุที่เรียกว่า หลักสูตรแฝง นั้น เนื่องมาจากความรู้
ความเข้าใจที่เราได้รับจะมาจากการเรียนรู้หรือมวลประสบการณ์ต่าง ๆ
ที่ไม่ได้จัดการเรียนการสอนให้แก่ผู้เรียนโดยตรงตามหลักสูตรที่กำหนด เช่น คุณธรรม
จริยธรรม วัฒนธรรม เจตคติ ค่านิยม ความเชื่อ มวลประสบการณ์ต่าง ๆ
สิ่งเหล่านี้จะถูกถ่ายทอดไปสู่ผู้เรียนโดยไม่มีการเรียนการสอนโดยตรง
แต่บูรณาการไปกับกิจกรรมต่าง ๆ ที่ผู้เรียนปฏิบัติ ตลอดจนการได้รับอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมทางสังคมในสถานศึกษา
รวมทั้งวัฒนธรรมองค์กรของแต่ละสถานศึกษาด้วย
ผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้จากการใช้ชีวิตในสถานศึกษา การเรียนรู้ต่าง ๆ
ที่ไม่ต้องมีการจัดการเรียนการสอนอย่างเป็นทางการ แต่เป็นประสบการณ์ต่าง ๆ
ที่ผู้เรียนได้รับและเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง และสิ่งที่ผู้เรียนได้รับจากหลักสูตรแฝงนั้นจะปรากฏเป็นพฤติกรรมและลักษณะนิสัยของผู้นั้นต่อไป.
หลักสูตรแฝงกับการเรียนรู้พฤติกรรมจิตพิสัย
โดยทั่วไปโรงเรียนจะประสบความสำเร็จมากในการสอนให้เกิดการเรียนรู้
ทางด้านพุทธิพิสัย และทักษะพิสัย ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
มีการสอนและการประเมินผลที่จัดให้เกิดความสอดคล้องกันได้ง่าย และกระทำได้ง่าย
แต่โรงเรียนจะมีปัญหาในการสอนนักเรียนให้เกิดการเรียนรู้ทางด้ายจิตพิสัย
เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้โดยการบรรยาย
เด็กจะเรียนรู้สิ่งเหล่านี้จากตัวอย่างและการกระทำของผู้ใหญ่
และผู้อยู่ใกล้ชิดมากกว่า
ชิลเบอร์เมน (Silberman,1970:9) ได้ยืนยันความจริงในข้อนี้ว่า
สิ่งที่นักการศึกษาจะต้องตระหนักให้มากก็คือ
วิธีการที่เขาสอนและการกระทำของพวกเขามีความสำคัญมากกว่าสิ่งที่เขาสอน นั่นก็คือว่าวิถีทางที่เรากระทำกับสิ่งต่างๆ
จะสร้างค่านิยมได้ตรงกว่าและมีประสิทธิผลมากกว่าที่เราได้สอนหรือพูดคุยกับเขาโดยตรงการปฏิบัติการในเชิงการบริหารที่มีลักษณะเฉพาะ
ประเภทการเลื่อนชั้นโดยอัตโนมัติการแบ่งกลุ่มนักเรียนตามความสามารถ การแบ่งแยกผิวพรรณและเชื้อชาติ
หรือการสอบแข่งขันเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาจะมีผลต่อหน้าที่พลเมืองมากกว่าการเรียนโดยตรงในหลักสูตรวิชาสังคมศึกษา เด็กๆ จะถูกสอนให้เรียนรู้เกี่ยวกับค่านิยมจริยธรรม ศีลธรรม
บุคลิกภาพ
และความประพฤติทุกวันจากการจัดและดำเนินการของโรงเรียน เช่น
วิถีทางที่ครูและพ่อแม่ประพฤติ
วิถีทางที่พวกเขาพูดกับเด็กและระหว่างผู้ใหญ่ด้วยตนเอง ชนิดของพฤติกรรมที่พวกเขายอมรับและให้รางวัล และชนิดของพฤติกรรมที่พวกเขาไม่ยอมรับ และมีการลงโทษ
มากกว่าการเรียนรู้จากเนื้อหาที่บรรจุไว้ในหลักสูตรปกติ
โคลเบอร์ก (kopiberg,
1970:120)
ซึ่งเป็นนักสังคมวิทยาการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาด
ผู้ซึ่งล่วงไปแล้ว
ได้มีความเชื่อและจุดยืนเดียวกันเกี่ยวกับความสำคัญและอิทธิพลของหลักสูตรแฝงในรูปแบบของการเรียนรู้ทางสังคม
(socialization) ของนักเรียน เขามองว่าหลักสูตรแฝงมีลักษณะและธรรมชาติที่จำเป็นและเอื้อต่อการพาไปสู่ความเจริญงอกงามทางจริยธรรม เพราะในโรงเรียนประกอบไปด้วยฝูงคน การยกย่องและอำนาจ
แจ๊คสัน (jackson, 1968 : 36)
ได้ศึกษาลักษณะที่สำคัญของห้องเรียนและได้ชี้ให้เห็นถึงธรรมชาติของการกระบวนการเรียนรู้ทางสังคมและความสำคัญของหลักสูตรแฝงว่า ในขณะที่ใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียน
นักเรียนเรียนรู้ที่จะปรับตนเองให้สอดคล้องกับเจตจำนงของครู แล้วควบคุมการกระทำของตนเองให้เป็นที่ยอมรับ เขาเรียนรู้ที่จะยอมรับตามและปฏิบัติตามกฎ
ระเบียบ และกิจวัตรต่างๆ ที่ได้กำหนดไว้เขาเรียนรู้ที่จะอดทนกับความไม่พอใจเล็กๆ
น้อยๆ และยอมรับนโยบายและแผนงานของผู้บริหาร
แม้ว่าจะขาดเหตุผลไปบ้างก็ตาม
แจ๊คสัน (Jackson, 1972 : 81 ) ถือว่า กฎ
ระเบียบ และกิจวัตรประจำวัน เป็น 3 R’s (rules,regulaons, and routines ) ของหลักสูตรแฝง เพราะเป็นสิ่งที่นักเรียนต้องเรียนรู้และปฏิบัติตาม
มิฉะนั้นพวกเขาจะไม่สามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมนั้นได้
หลักสูตรแฝงจะช่วยให้ครู
และนักการศึกษาได้แง่คิด
และเข้าใจสัจธรรมเกี่ยวกับการเรียนรู้ในเรื่องเจตคติ ค่านิยม พฤติกรรม
คุณธรรม และจริยธรรมของนักเรียน
โรงเรียนจึงไม่ควรเน้นและทุ่มเทในด้านการสอนสิ่งเหล่านี้
ตามตัวหลักสูตรปกติมากจนเกินไป หรือเกินความจำเป็น
แต่ให้เพิ่มความสนใจแก่หลักสูตรแฝงมากขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น