1.
สืบค้นจากหนังสือหรือในระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เรื่อง การพัฒนามนุษย์
การศึกษาการเรียนรู้และหลักสูตร
ตอบ มนุษย์จะมีการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา
และหลายครั้งของการเรียนรู้เหล่านั้นเกิดจากความไม่ได้ตั้งใจ
และเกิดขึ้นภายนอกสถาบันการศึกษา นั่นก็ขึ้นอยู่กับว่า มนุษย์คนนั้นเห็นว่า
การเรียนรู้สิ่งใดมีประโยชน์และมีคุณค่า
และการมีคุณค่าของการเรียนรู้จะขึ้นอยู่กับบุคคลแต่ละคน กลุ่มคน เวลา และ สถานการณ์ในการนำความรู้ที่เกิดจากการเรียนรู้นี้ไปใช้
ทั้งหมดทั้งสิ้น คือ กระบวนการของการศึกษา
วัตถุประสงค์ของการศึกษาเรียนรู้นั้นขึ้นอยู่กับบุคคล
บางคนเรียนรู้เพื่อมีชีวิตรอด (Survive) บางคนเรียนรู้เพื่อให้มีชีวิตที่เจริญก้าวหน้าขึ้น
(Thrive) แต่ก็น่าเสียดายที่ว่า
โอกาสที่คนจะเรียนรู้และรับประสบการณ์ในการเรียนรู้นั้นไม่เพียงพอ
และไม่เท่าเทียมกัน (Gordon & Rebell, 2007)
หลักสูตรจะช่วยแก้ปัญหานั้นได้อย่างไร
การจัดการการเรียนรู้ในระบบการศึกษาในทุกวันนี้
ขึ้นอยู่กับว่า มีอะไรที่เป็นความรู้อยู่บ้าง สิ่งนั้นก็จะถูกถ่ายทอดไปยังผู้เรียน
ในหลักสูตรที่เน้นตัวเนื้อหาวิชาเป็นศูนย์กลาง (Subject-Centered
Curriculum) จะมุ่งเน้นความรู้เฉพาะทางที่อยู่ในเนื้อหาทางวิชาการของวิชานั้นๆ
แต่เราในฐานะนักการศึกษา ต้องจดจำไว้เสมอว่า
การศึกษามิใช่เป็นเพียงแค่กระบวนการเผยแพร่สาระความรู้ที่มีอยู่เท่านั้น
แต่กระบวนการทางการศึกษาที่ดีต้องเน้นให้ผู้เรียนได้นำสาระทางวิชาการที่ได้เรียนรู้นั้นไปเพื่อได้รับการพัฒนาและนำไปแสวงหาหรือเพื่อการค้นพบความรู้ใหม่
(Wraga, 2009) การปรับเปลี่ยนมุมมองในสิ่งที่เรียกว่า
ความรู้ (Knowledge) และ มาตรฐานและข้อบังคับ (Standards
and Regulations) รวมถึงการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี
ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในความรู้อย่างกว้างขวาง การเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของประชาชนเป็นอีกสาเหตุที่ก่อให้เกิดวัฒนธรรมโลก
และเศรษฐกิจโลกขึ้น การกระจายค่านิยม และความก้าวหน้าของความเป็นประชาธิปไตย
ล้วนเป็นประเด็นที่ต้องเรียนรู้ และการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้เห็นชัดเจนว่า
การศึกษานั้นมิใช่มีกรอบจำกัดเพียงแค่คำว่า “โรงเรียน” เท่านั้น แต่ค่านิยมและความเชื่อที่ว่าโรงเรียนคือสถานที่ที่สร้างสรรค์การเรียนรู้
และเพื่อให้ “โรงเรียน”
เป็นสถานที่ที่ให้การศึกษาและเป็นแหล่งการเรียนรู้กับคนให้มากที่สุด
ครอบคลุมสิ่งซึ่งเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
หลักสูตรเป็นเสมือนเข็มทิศในการเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คน และเป็นสิ่งที่กำหนดและสะท้อนกลับแนวความคิดการเรียนรู้
รวมถึงกิจกรรมทางการศึกษาให้กับผู้เรียน (Sowell, 2000)
จึงจำเป็นที่โรงเรียนต้องพัฒนาหลักสูตรเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ในอดีต หลักสูตรทางการศึกษาและการเรียนรู้ เป็นเพียงกระบวนการถ่ายทอดทัศนคติ ความรู้
และทักษะ จากผู้ที่มีประสบการณ์มากกว่าและมีการศึกษาสูงกว่า
ไปสู่คนที่มีประสบการณ์และการศึกษาที่ต่ำกว่า เท่านั้น ประกอบกับโดยทั่วไปแล้ว
สังคมตระหนักและให้ความสำคัญ ว่า
โรงเรียนเป็นสถาบันการศึกษาของสังคมเพียงแห่งเดียวที่ให้โอกาสทางการเรียนรู้กับบุคคลในชาติ
ทั้งที่การศึกษาเรียนรู้อาจเกิดขึ้นจากภายนอกห้องเรียนและอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
ดังนั้นทฤษฎีการจัดการศึกษาจึงมิได้มุ่งเพียงแค่ทฤษฎีเกี่ยวกับในระบบโรงเรียน
หากแต่ต้องรวมถึงทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกับสมาชิกโดยรวมของสังคม (Gordon
& Rebell, 2007) การกำหนดหลักสูตรจะต้องคำนึงถึงหลักการศึกษาพื้นฐานที่ว่า
การศึกษาเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นตลอดชีวิต และในทุกสถานการณ์ที่คนมีชีวิตอยู่ร่วม
หลักปรัชญาที่ควรคำนึงในการกำหนดหลักสูตร
ในการร่างหลักสูตรการเรียนการสอน
ควรต้องคำนึงถึงปรัชญาของโลก ของประเทศ และค่านิยมต่างๆ ความต้องการของสังคม
และเป้าหมายของสังคมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ปรัชญาของโลก (World
Philosophy) ที่เป็นพื้นฐานในการกำหนดทิศทางของการจัดการศึกษา (Webb,
Metha & Jordan, 2003) ได้แก่
1. Ontology
(Metaphysics): การเรียนรู้ของจริงต่างๆ ที่อยู่ในโลกและสิ่งแวดล้อมรอบตัวโดยผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า
2. Epistemology:
การเรียนรู้ศาสตร์ต่างๆ
3. Axiology:
การเรียนรู้ในเรื่องของความดี ความสวยงาม ค่านิยม โดยมาผสมผสานกับ Educational
Domains เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เป็นบุคคลที่พึงประสงค์ อันได้แก่
1. Cognitive
Domain: มุ่งพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนทางด้านความรู้ และสติปัญญา
2. Affective
Domain: มุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนเกิดทัศนคติที่ดี
เกิดความรักในสิ่งที่ได้เรียนรู้และการเรียนรู้
3. Psychomotor
Domain: มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เกิดทักษะ ความเชี่ยวชาญในสิ่งที่ได้เรียนรู้
หากเราลองเปรียบเทียบกับองค์ 4
ของการศึกษาไทย กล่าวคือ พุทธิศึกษา จริยศึกษา หัตถ ศึกษา และพลศึกษา
เราก็เห็นได้ว่ามีพื้นฐานที่ไม่ต่างกัน
ซึ่งก็เป็นที่มาของหลักสูตรปัจจุบันที่เน้นให้ ผู้เรียนเป็นคนเก่ง เป็นคนดี
และเป็นผู้ที่อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ดังนั้นข้อสำคัญในการกำหนดหลักสูตร คือ
ต้องคำนึงถึงการเรียนการสอนที่เกิดขึ้นในโรงเรียนและเตรียมตัวผู้เรียนที่จะเรียนรู้ประสบการณ์ต่างๆ
นอกโรงเรียนได้อย่างมีความสุข เป็นที่ยอมรับของคนในสังคม Dewey
(1916) เห็นความสำคัญของการเรียนรู้ที่เกิดจากประสบการณ์นอกโรงเรียน
โดย Dewey ได้ระบุว่า การศึกษาแบ่งได้เป็น 2 ประเภท กล่าวคือ
การศึกษาที่ตั้งใจให้เกิดการเรียนรู้ (Deliberate Education) และการศึกษาที่เกิดจากสถาณการณ์หรือเรียนรู้จากสิ่งอื่นๆ (Incidental
Education) นักการศึกษามักจะมุ่งเน้นการจัดการศึกษาและพัฒนาหลักสูตรเพื่อตอบสนองเพียงการศึกษาประเภทแรก
และลืมนึกถึงการเตรียมผู้เรียนในการที่จะต้องพบกับสถาณการณ์ที่จะต้องเผชิญและเรียนรู้กับการศึกษาประเภทที่สอง
หลักสูตรแม้จะจัดไว้สำหรับนักเรียนในระบบโรงเรียน
แต่ก็ต้องเปิดกว้างเพื่อให้เกิดการเรียนรู้นอกชั้นเรียนหรือนอกโรงเรียน
เพราะได้มีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่า การเรียนรู้นอกห้องเรียนนั้น
มีความสัมพันธ์กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในระบบโรงเรียนของผู้เรียน (Anyon, 2005; Barton, 2003; Gordon, Bridglall &
Meroe, 2005)
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่สังคมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ซึ่งส่วนหนึ่งมีผลมาจากการเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ไม่หยุดนิ่ง
หลักสูตรและผู้ที่รับผิดชอบในการพัฒนาหลักสูตร ในการกำหนดมาตรฐานของหลักสูตร
และกำหนดตัวมาตรฐานต่างๆ เพื่อพัฒนาระบบการศึกษา จึงควรได้รับการปฏิรูป
หากโรงเรียนและบุคคลที่กำหนดกลไกทางการศึกษาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงให้ทันกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการเรียนรู้แล้ว
การเรียนรู้ก็คงทิ้งห่างระบบโรงเรียนไปไกล (Collins & Halverson, 2009) การขยายตัวของแหล่งการเรียนรู้ต่างๆ
ควรได้รับการคำนึงถึงในการกำหนดหลักสูตรการเรียนรู้ในระบบโรงเรียน เป็นต้นว่า
การจัดการเรียนที่บ้าน (Home Schooling) การเรียนรู้ ณ
ที่ทำงาน (Workplace Learning) การศึกษาทางไกล (Distance
Learning) ศูนย์การเรียนรู้ (Learning Centers) โทรทัศน์เพื่อการศึกษา (Educational TV) Video และ Software
ต่างๆ รวมถึง Websites ใน Internet สิ่งเหล่านี้มันบอกได้ถึง
วิธีการและกระบวนการยุคใหม่แห่งการเรียนรู้และระบบใหม่ของการศึกษา (Collins
& Halverson, 2009)
ใครควรเป็นผู้กำหนดหลักสูตร
การขยายขอบเขตของหลักสูตรละการจัดการการเรียนรู้
ควรต้องคำนึงสำหรับผู้รับผิดชอบในการออกแบบและกำหนดหลักสูตร ไม่ว่าจะเป็นในเรื่อง
ความรับผิดชอบ (Responsibility)ในการจัดการการศึกษา
และ ความคาดหวัง (Expectations) ที่ต้องได้รับการพัฒนาจนไปถึงระดับปัจเจกบุคคล
เนื้อหาสาระ (Content) รวมถึงกระบวนการฝึกฝน
ความมีวินัยในการเรียน และ การเรียนรู้ที่ว่าจะต้องเรียนอย่างไร วิธีสอน (Pedagogy)
ที่จะต้องพัฒนาจากการฝึกฝน
จนมีความรู้ความสามารถและสามารถมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นและสิ่งรอบตัว
และสถานที่
นักการศึกษาต่างเข้าใจดีว่า
หลักสูตรที่ดีนั้น เกิดจากกระบวนการที่ดำเนินอย่างต่อเนื่องของการคิด การวิจัย
และการประเมินจากผลสะท้อนกลับของการนำหลักสูตรไปใช้ (Tyler,
1949) ดังนั้น การที่จะได้มาซึ่งผลของความคิดที่ครอบคลุม
การวิจัยที่เชื่อถือและยืนยันได้ และผลสะท้อนกลับของการใช้หลักสูตร
จึงต้องเกิดจากบุคคลที่หลากหลาย แต่ละบุคคลจากแต่ละฝ่ายจะมีแง่คิด
มุมมองและความตั้งใจ รวมถึงเป้าหมายในการพัฒนาคนผ่านกระบวนการของการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม
การร่างและ การออกแบบหลักสูตร
รวมถึงการพิจารณายอมรับในหลักสูตรไม่สามารถจำกัดอยู่เพียงแค่แวดวงของครู
ผู้บริหารการศึกษา หรือผู้เชี่ยวชาญด้านหลักสูตรเท่านั้น
การตัดสินใจในการกำหนดหลักสูตร จะเกิดขึ้นภายใต้บริบทที่เป็นปัจจุบันของชุมชน จังหวัด
ภาค หรือประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น (Webb, Metha & Jordan, 2003) หลักสูตรที่ดี และเป็นที่ยอมรับของสถานที่หนึ่ง
ก็ไม่ได้หมายความว่าจะใช้ได้ดีและเกิดสัมฤทธิผลที่ดีกับอีกสถานที่หนึ่ง
หรือที่เดี่ยวกัน แต่ในเวลาที่ต่างกันหรือใช้กับผู้เรียนต่างกลุ่มกัน
วัตถุประสงค์ วิธีการ
ความแข็งแกร่งและความสำเร็จของหลักสูตร
ควรที่จะได้รับอิทธิพลมาจากบุคคลในหลากหลายอาชีพ
ไม่ว่าจะเป็นบุคคลในสายการเมืองการปกครอง สายสังคมศาสตร์ สายเศรษฐศาสตร์
นักการศึกษาเอง หรือแม้กระทั่งบุคคลในสายการศาสนาก็ตาม (Tietelbaum,
1998) ผู้กำหนดหรือผู้ใช้หลักสูตรควรต้องได้รับคำปรึกษาทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม
และทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ จากบุคคลตั้งแต่ ผู้ปกครอง
กลุ่มชมรมหรือสมาคมในชุมชน ครู คณะกรรมการบริหารโรงเรียน
ข้าราชการทางการศึกษาของอำเภอและจังหวัด คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ รายงานการศึกษาต่างๆ
รัฐบาลของชาติ องค์กรอาชีพต่างๆ
ตลอดจนเป้าหมายและมาตรฐานของบุคคลที่พึงประสงค์ในระดับชาติ
ดังจะเห็นตัวอย่างได้จากการที่บริษัทเอกชนหลายบริษัทในประเทศสหรัฐอเมริกา
ได้เข้าร่วมร่างและกำหนดหลักสูตรการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย
บริษัทเหล่านี้จะเป็นผู้ระบุถึงศักยภาพ ความรู้ ความสามารถและทักษะในการทำงาน
ที่ทางบริษัทต้องการ
และมหาวิทยาลัยก็จะจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้ตรงตามความต้องการ
ส่งนักศึกษาเข้าเรียนรู้งานและฝึกงานในบริษัทเหล่านั้น เมื่อสำเร็จการศึกษา
นักศึกษาก็จะมีทักษะตรงตามที่บริษัทต้องการ และพร้อมเข้าทำงานในบริษัทเหล่านั้นได้เลย
โดยที่บริษัทก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมพนักงาน
การกำหนดหลักสูตรที่ดี
ก็จะเป็นเสมือนแสงไฟที่ส่องทางไปสู่ความสำเร็จของบุคคลที่เดิน
ตามแสไฟที่ส่องนำทางนี้ แสงไฟจึงต้องส่องแสงไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาคน
มิใช่ส่องไปแบบไร้ทิศทาง อย่างไรก็ตาม หลักสูตรต้องเป็นที่เข้าใจได้ (Comprehensiveness)
สำหรับผู้ใช้หลักสูตร ต้องมีความเป็นเหตุเป็นผล (Cogency) มีความเกี่ยวเนื่องเกี่ยวพัน (Coherency) และมีความกลมกลืน
(Consonance) ทั้งในส่วนของวิชาเดียวกันที่สอนในชั้นที่ต่างระดับกัน
ที่เรียกว่า การกลมกลืนและเกี่ยวพันในแนวตั้ง และในส่วนของวิชาที่ต่างกัน
แต่สอนในระดับเดียวกัน คือในแนวนอน
รวมถึงความเกี่ยวพันกับโครงสร้างและความต้องการของสังคม
เพื่อให้ผู้เรียนได้ใช้ประโยชน์ของการเรียนรู้อย่างแท้จริงในชีวิตประจำวัน
2. ศึกษาทำความเข้าใจเพิ่มเติมจาก
สุเทพ อ่วมเจริญ การพัฒนาหลักสูตร : ทฤษฎีและการปฏิบัติ “การพัฒนาหลักสูตร : นิยาม ความหมาย”
ตอบ สุเทพ อ่วมเจริญ (2555:4) สรุปว่าหลักสูตร
หมายถึง
ศาสตร์ที่เรียนรู้เพื่อนำไปกำหนดวิถีทางที่นำไปสู่การจัดประสบการณ์ให้ผู้เรียนเพื่อการเรียนรู้
กระบวนการพัฒนาหลักสูตร (สามเหลี่ยมใหญ่)
จะประกอบด้วยขั้นตอนในการจัดทำหลักสูดร (สามเหลี่ยมเล็กๆ 4 ภาพ) โดยประกอบด้วย 4
ขั้นตอนดังนี้
1.สามเหลี่ยมแรก
การวางแผนหลักสูตร (Curriculum Planning) อาศัยแนวคิดพัฒนาหลักสูตรของไทเลอร์คำถามที่หนึ่งคือ
มีจุดมุ่งหมายอะไรบ้างในการศึกษาที่โรงเรียนต้องแสวงหา เพื่อนำไปวางแผ่นหลักสูตร
กำหนดจุดหมายหลักสูตร
2. สามเหลี่ยมรูปที่สอง
การออกแบบ (Curriculum Design) นำจุดหมายและจุดมุ่งหมายของหลักสูตรมาจัดทำกรอบการปฏิบัติ
ม่งเน้นให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาตามกระบวนการของหลักสูตร สอดคล้องกับคำถามที่สองของไทเลอร์คือมีประสบการณ์ศึกษาอะไรบ้างที่โรงเรียนควรจัดเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายในการศึกษา
การออกแบบหลักสูตรเพื่อให้มีจัดกิจกรรมหรือประสบการณ์ที่ตอบสนองจุดหมายและจุดมุ่งหมายของหลักสูตร
3.สามเหลี่ยมรูปที่สาม
การจัดระบบหลักสูตร (Curriculum Organize) จัดหลักสูตรเพื่อตอบสนองการวางแผนหลักสูตร
สองคล้องกับคำถามที่สามของไทเลอร์ คือ
จัดประสบการณ์เรียนรู้อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ
การจัดระบบหลักสูตรให้ได้ประสิทธิภาพมีความหมายรวมถึงการบริหารที่สนับสนุนการจัดการเรียนรู้
และรวมถึงการนิเทศการศึกษา
4.สามเหลี่ยมรูปที่สี่
การประเมิน (CurriculumEvaluation) ประเมินทั้งระบบหลักสูตรและผลการเรียนรู้ตามหลักสูตร
สอดคล้องคำถามที่สี่ของไทเลอร์ คือ
ประเมินประสิทธิผลของประสบการณ์ในการเรียนอย่างไร
พื้นฐานแนวคิด SU
Model มาจากการพัฒนาสามเหลี่ยมมุมบน มุ่งเน้นให้การศึกษา 3 ส่วน คือ
จริยศึกษา เป็นการอบรมศีลธรรมอันดีงาม พุทธิศึกษา ให้ปัญญาความรู้ และพลศึกษา
เป็นการฝึกหัดให้มีร่างกายสมบูรณ์ เมื่อนำมาใช้จะได้ว่า
เป้าหมายหมายของสูตรจะมุ่งเน้นให้เกิด ความรู้ (knowledge) พัฒนาผู้เรียน
(leader) และสังคม (society) มุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนเป็นคนที่
“เก่ง ดี มีสุข” การพัฒนาหลักสูตรจะประกอบไปด้วย 3 ด้าน คือ ด้านปรัชญาการศึกษา
ด้านจิตวิทยา และด้านสังคม
มีการพัฒนาหลักสูตรจากรูปสามเหลี่ยมไปสู่การวางแผนหลักสูตร การออกแบบหลักสูตร
การนำหลักสูตรไปใช้ และการประเมินหลักสูตร ดังภาพ SU Model มีขั้นตอนดังนี้
1.เริ่มจากวงกลม หมายถึง
จักรวาลแห่งการเรียนรู้ รูปสามเหลี่ยมด้านเท่า หมายถึง กระบวนการพัฒนาหลักสูตร
2.ระบุพื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตร
ในพื้นที่วงกลมซึ่งมีพื้นฐานหลากหลายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาหลักสูตร ระบุพื้นฐาน
3 ด้าน
(ปรัชญาจิตวิทยาสังคม)ลงในช่องว่างนอกรูปโดยกำหนดให้ด้านสามเหลี่ยมระหว่างความรู้กับผู้เรียนมีพื้นฐานสำคัญคือ
พื้นฐานด้านปรัชญา
ด้านสามเหลี่ยมระหว่างผู้เรียนกับสังคมมีพื้นฐานผู้เรียนกับสังคมมีพื้นฐานสำคัญคือ
พื้นฐานด้านจิตวิทยา และด้านสามเหลี่ยมระหว่างสังคมกับความรู้มีพื้นฐานสำคัญคือ
พื้นฐานด้านสังคม
3.พื้นฐานด้านปรัชญา
ได้แนวคิดว่าการพัฒนาหลักสูตรที่มีจุหมายของหลักสูตรที่มุ่งเน้นความรู้
มาจากพื้นฐานสารัตถนิยมกับปรัชญานิรันตรนิยม
การพัฒนาหลักสูตรที่มีจุดมุ่งหมายของหลักสูตรที่มุ่งเน้นผู้เรียน
มาจากพื้นฐานปรัชญาอัตถิภาวะนิยม
และการพัฒนาหลักสูตรที่มีจุดหมายของหลักสูตรที่มุ่งเน้นสังคม
มาจากพื้นฐานปรัชญาปฏิรูปนิยม
4.กำหนดจุดกึ่งกลางของด้านสามเหลี่ยมทั้งสามด้าน
เพื่อแทนความหมายว่าในการพัฒนาหลักสูตรต้องใช้ข้อมูลพื้นฐานด้านปรัชญา จิตวิทยา
และสังคม
5.พิจารณากระบวนการพัฒนาหลักสูตร
นำแนวคิดกระบวนการพัฒนาหลักสูตรมากำหนดชื่อสามเหลี่ยมเล็กๆทั้งสี่รูป ได้แก
การวางแผนหลักสูตร การออกแบบหลักสูตร การจัดหลักสูตร และการประเมินหลักสูตร
หลักสูตรที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญมีพื้นฐานที่สำคัญจากปรัชญาพิพัฒนาการ
ที่มีความเชื่อว่าสาระสำคัญและความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลายนั้นไม่ได้หยุดนิ่ง
ฉะนั้นวิธีการทางการศึกษาจึงต้องพยายามปรับปรุงให้สอดคล้องกับกาลเวลาและสภาพแวดล้อมอยู่เสมอ
3. อุปมาอุปมัย : เมื่อการศึกษาเปรียบได้กับเครื่องมือพัฒนามนุษย์
หลักสูตรเปรียบได้กับสิ่งใด
ตอบ หลักสูตรเปรียบเสมือนสายน้ำ
น้ำเปรียบเสมือนความรู้
สายน้ำมีการเคลื่อนตัวตลอดเวลา
สายน้ำแยกย่อยเป็นแม่น้ำหลายสาย สายน้ำแยกย่อยเป็นคูคลองมากมาย
สายน้ำคดเคี้ยวเลี้ยวไปตามสภาพภูมิประเทศและเหตุการณ์
สิ่งมีชีวิตที่อยู่ใกล้น้ำก็จะพบว่ามีความเจริญงอกงามดี
สภาพพื้นที่ ที่ต่างกันมีความจำเป็นที่ต้องการน้ำต่างกันด้วยเช่นกัน
สายน้ำอาจเกิดขึ้นจากรูปแบบทางธรรมชาติ สายน้ำอาจเกิดขึ้นจากความต้องการของมนุษย์ มนุษย์ขุดคลองเพื่อใช้ทำการเกษตร มนุษย์รู้จักการทำชลประทาน
การสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำ
ไม่ว่าจะการสร้างเขื่อนเพื่อการชลประทานหรืออย่างไร
มนุษย์รู้จักการจัดการกับระบบเพื่อให้ระบบจัดการกับตนเองและได้ประโยชน์สูงสุด
ระบบในการจัดการนี้จึงเปรียบเสมือนหลักสูตรที่สร้างขึ้นจากความต้องการจำเป็นในเหตุผลต่างๆนานาประการ
เราอาจเรียกต่างกันว่าสายน้ำ
ลำน้ำ คูน้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง
ไม่ว่าจะเรียกว่าเป็นสิ่งใดก็ตาม
แต่ก็จะประกอบไปด้วยปัจจัยสำคัญก็คือน้ำ
น้ำเป็นสิ่งสำคัญในการใช้ชีวิต หากเปรียบดั่งความรู้
ความรู้ก็เป็นสิ่งสำคัญในการใช้ชีวิต ซึ่งหากปราศจากความรู้
ชีวิตคงไม่สามารถก้าวเดินไปเบื้องหน้าได้อย่างมั่นคง
หลักสูตรเป็นดั่งสายน้ำที่จัดรูปไปตามริ้วขบวนที่ความต้องการทางธรรมชาติเป็นผู้กำหนด
สายน้ำแต่ละสายลดเลี้ยวไปในที่ๆต่างกันไปตามแรงสภาวะของธรรมชาติ
คล้ายกับการออกแบบหลักสูตรเพื่อเป็นไปตามความต้องการของเป้าประสงค์ อาทิ
การเรียนรู้แบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
หรือการเรียนรู้แบบสังคมเป็นศูนย์กลางเป็นต้น
เมื่อธรรมชาติได้กำหนดทิศทางของสายน้ำแล้ว น้ำที่ไหลเรื่อยไปจึงถูกนำไปใช้เพื่อก่อเกิดประโยชน์สูงสุด
การนำหลักสูตรไปใช้หรือการที่น้ำถูกนำไปใช้ประโยชน์จึงอยู่ในมิติความหมายเดียวกัน
เมื่อถึงขั้นตอนแห่งการประเมินผล
ในทางหลักสูตรอาจดูจากผลที่ได้จึงสามารถประเมินค่าในการใช้หลักสูตรนั้นๆออกมาได้ หากแต่การเปรียบประเมินผลถึงสายน้ำแล้วคงไม่พ้น
ดอก หรือผลของต้นไม้ในธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย
ต้นไม้แต่ละต้นยังเปรียบเสมือนผู้เรียนแต่ละคน
ต้นที่รับน้ำน้อยอาจมีลำต้นไม่ได้มาตรฐานหรือเกิดลักษณะบกพร่องไป
นอกเสียจากว่าต้นไม้บางประเภทอาจมีความต้องการบางอย่างที่ต่างออกไป
แต่อย่างไรก็แล้วแต่คงไม่มีสิ่งใดในโลกที่ไม่ต้องการน้ำ
เพียงแต่มากน้อยต่างกันไปตามองค์ประกอบของตนเท่านั้น
บทสรุปของการอุปมาอุปมัย
จากที่กล่าวมาข้างต้นสายน้ำสามารถเปรียบได้ถึงหลักสูตรที่จะนำพาน้ำอันเปรียบเสมือนความรู้ที่ถูกจัดอยู่ในกรอบกำหนดของขอบเขตสิ่งที่ไหลไปอย่างเป็นระบบมีและจุดหมายปลายทาง
การออกแบบจะเป็นไปตามความต้องการของสภาพแวดล้อมและความต้องการนั้นๆ
ส่วนการประเมินผลสามารถรับรู้ได้จากผลของพืชและสิ่งมีชีวิตที่ได้ประโยชน์จากน้ำและสายน้ำนี้
หากมีความอุดมสมบูรณ์ดีหรือมีความผิดปกติบางประการอาจตรวจสอบได้จากน้ำที่ให้ประโยชน์หรือตรวจสอบจากดินและสภาพแวดล้อมรวมถึงการปรับปรุงแก้ไขไปตามความถูกต้องเพื่อให้เกิดประโยชน์และเป้าหมายสูงสุดของความเจริญงอกงามนั่นเอง
สายน้ำ เปรียบเสมือน
หลักสูตร
น้ำ เปรียบเสมือน
ความรู้
พืชพรรณและสิ่งมีชีวิต เปรียบเสมือน
ผู้เรียน
ดอกผลที่ได้ เปรียบเสมือน ผลที่ได้จากการประเมิน
หลักสูตรเปรียบได้ดังแผนที่ ช่วยแนะแนวปรับชี้จุดหมาย
สร้างถูกช่วยนำทางให้รอดตาย จักกลับร้ายหากสร้างผิดคิดใคร่ครวญ”
วิเคราะห์ความ
เซเลอร์ และอเล็กซานเดอร์(Saylor
and Alexander 1981:5)
กล่าวว่าหลักสูตรเปรียบเสมือนแผนการเดินทางและตารางที่ยืดหยุ่นได้ในการดำเนินการศึกษา
หลักสูตรจะถูกสร้างขึ้นโดยผู้เชี่ยวชาญทางด้านเนื้อหา
และวิชาการทางด้านการศึกษาระดับชั้นต่างๆรวมอยู่ด้วย ดังคำกล่าวที่ปรากฏจะเห็นได้ว่า
หลักสูตรคือสิ่งชี้นำทางการศึกษา ช่วยให้ผู้เรียนมีเป้าหมายและทิศทางที่ถูกต้องในการศึกษาเล่าเรียน
ตามความคิดของข้าพเจ้าจึงเปรียบหลักสูตรเสมือนแผนที่ที่จะช่วยบอกทิศทางในการเดินทางให้ไปสู่จุดหมายได้โดยไม่หลงออกนอกพื้นที่
จัดเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้รู้และเข้าใจเส้นทางการเดินทางได้โดยเที่ยงตรง
นับเนื่องตั้งแต่การเริ่มสร้างหลักสูตรนั้นคล้ายคลึงกันกับการสร้างแผนที่
นั่นคือ ต้องประกอบไปด้วยผู้ที่เกี่ยวข้อง และเชี่ยวชาญจากหลายฝ่าย(Team)มาช่วยกันพิจารณา(Curriculum Planning)สร้างหลักสูตรขึ้น
ซึ่งแน่นอนเหลือเกินว่าหลักสูตรที่ดีนั้นย่อมไม่สามารถสร้างขึ้นโดยลำพังได้จากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
เนื่องเพราะหลักสูตรนั้นต้องสร้างให้เหมาะสมกับสภาพชุมชน ท้องถิ่น
ความต้องการในขณะนั้น
เช่นเดียวกันกับแผนที่ที่ต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบและใช้ผู้รู้จากหลายฝ่ายในการจัดทำขึ้น การตั้งเป้าหมาย(Goal)ของหลักสูตรจึงเปรียบเสมือนกับการตั้งเป้าหมายใหญ่หรือสถานที่ที่จะไปในแผนที่
เนื้อหาที่ปรากฏในหลักสูตรก็เสมือนรายละเอียดของหลักสูตรที่ช่วยขยายความให้รายละเอียดที่ชัดเจนโดยอาจปรากฏขึ้นทั้งในรูปแบบของวัจนและอวัจนภาษา
(Verbal and Non-Verbal Language)
จากนั้นจึงเป็นขั้นของการนำหลักสูตรไปใช้ (Curriculum
Implementation) ซึ่งเปรียบกับการใช้แผนที่ในการเสาะแสวงหา Goal
ที่ได้ตั้งไว้
หากผู้ใช้สามารถไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้จริงตามเกณฑ์ที่กำหนดนั่นย่อมเป็นการรับประกันคุณภาพที่ปรากฏของแผนที่
หรือหากเกิดข้อผิดพลาดจะได้หาแนวทางแก้ไข พัฒนาเพิ่มเติมขึ้นจากเดิม ซึ่งแนวคิกเหล่านี้เชื่อมโยงกับ
ขั้นตอนในการประเมินผลหลักสูตร (Curriculum Evaluation) เพื่อให้ผู้ใช้หลักสูตรได้แก้ไข
พัฒนาปรับปรุงให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ยังประโยชน์ทั้งต่อตนเอง ชุมชน สังคม
และประเทศชาติได้อย่างดีที่สุด
โดยขอสรุปแนวความคิดหลักสูตรเปรียบได้ดังแผนที่เป็นตารางดังนี้
ความเปรียบเหมือน
หลักสูตร
|
แผนที่
|
1.
คณะหรือองค์กรในการจัดทำ เช่น คณะผู้บริหาร นักวิชาการ ครูอาจารย์
|
1.
ฝ่ายผู้รับผิดชอบสร้างแผนที่ เช่น นักธรณีวิทยา ผู้รับผิดชอบผังเมือง
|
2.
รูปแบบประเมินความต้องการ(Need Assessments)
|
2.
เครื่องหมายแสดงทิศ
|
3.
พันธกิจ เป้าหมาย วิสัยทัศน์
|
3.
สถานที่ หรือจุดหมายในการเดินทาง
|
4.
รายละเอียดหลักสูตร
|
4.
รายละเอียดแผนภาพ
|
5.
คณาจารย์ นักเรียน ผู้เกี่ยวข้องนำไปใช้
|
5.
ผู้ใช้แผนที่นำไปใช้
|
6.
สรุป และประเมินผล
|
6.
การเดินทางสู่เป้าหมาย
|
หลักสูตรเปรียบได้กับการขับรถยนต์ไปสู่จุดหมายปลายทาง
กระบวนการพัฒนาหลักสูตรของทาบา (Taba)
|
ส่วนประกอบในการผลิตรถยนต์
|
1.
วินิจฉัยความต้องการ : สำรวจสภาพปัญหา ความต้องการ
และความจำเป็นต่างๆ ของสังคม และผู้เรียน
|
รถยนต์เปรียบเสมือนการผลิตตามความต้องการของผู้ใช้รถยนต์
เสมือนการพัฒนาหลักสูตร ต้องมีการศึกษาอย่างหลากหลาย เช่น ความต้องการของผู้เรียน สังคม แนวคิดและปรัชญาทางการศึกษา ปรัชญาทางสังคม ทฤษฎีการเรียนรู้
|
2.
กำหนดจุดมุ่งหมาย : หลังจากได้วินิจฉัยความต้องการของสังคมและผู้เรียนแล้วจะกำหนดจุดมุ่งหมายที่ต้องการให้ชัดเจน
|
พวงมาลัยเปรียบเสมือนกับการนำพารถยนต์ให้สู่ที่หมายปลายทาง
เสมือนเป็นกิจกรรมที่ใช้ในการพัฒนาผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้ตามคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่ตั้งไว้
|
3.
คัดเลือกเนื้อหาสาระ : จุดมุ่งหมายที่กำหนด
แล้วจะช่วยในการเลือกเนื้อหาสาระให้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมาย วัย
ความสามารถของผู้เรียน โดยเนื้อหาต้องมีความเชื่อถือได้ และสำคัญต่อการเรียนรู้
|
วิทยุเครื่องเสียงติดรถยนต์เปรียบเสมือนกับการรับฟังข้อมูลข่าวสารที่เหมาะสมกับวัย
สไตล์ บุคลิกของแต่ละคน เสมือนเป็นกิจกรรมที่ใช้ในการกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสนใจ มีความกระตือรือร้น
|
4.
จัดเนื้อหาสาระ : เนื้อหาสาระที่เลือกได้
ยังต้องจัดโดยคำนึงถึงความต่อเนื่อง และความยากง่ายของเนื้อหา วุฒิภาวะ
ความสามารถ และความสนใจของผู้เรียน
|
ลำโพงรถยนต์เปรียบเสมือนกับระดับการฟังข้อมูลข่าวสารที่ต่อเนื่องชัดเจน
โดยมีวิทยุเป็นสื่อกลางการรับข้อมูลข่าวสารนั้น
เสมือนการพัฒนาหลักสูตรในแต่ละหลักสูตรต้องมีจุดเด่นที่น่าสนใจ
|
5.
คัดเลือกประสบการณ์การเรียนรู้ :
ครูผู้สอนหรือผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องคัดเลือกประสบการณ์การเรียนรู้ให้สอดคล้องกับเนื้อหาวิชา
และจุดมุ่งหมายของหลักสูตร
|
คันเร่งเปรียบเสมือนกับการขับรถยนต์บนท้องถนนโดยใช้ระดับการขับตามประสบการณ์และความสามารถของผู้ขับเป็นสำคัญ
เสมือนผลของการนำหลักสูตรไปใช้ที่เกิดกับผู้เรียน
จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่หลักสูตรกำหนด และสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
|
6.
จัดประสบการณ์การเรียนรู้ :
ประสบการณ์การเรียนรู้ควรจัดโดยคำนึงถึงเนื้อหาสาระและความต่อเนื่อง
|
เกียร์เปรียบเสมือนกับการเข้าจังหวะความต่อเนื่องในการขับขี่รถยนต์
เสมือนกิจกรรมการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นให้นักเรียนเกิดทักษะ
กิจกรรมเน้นกระบวนการคิด ใช้เทคนิควิธีการอย่างหลากหลาย
|
7.
กำหนดสิ่งที่จะประเมินและวิธีการประเมินผล :
ตัดสินใจว่าจะต้องประเมินอะไรเพื่อตรวจสอบผลว่าบรรลุตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้หรือไม่
และกำหนดด้วยว่าจะใช้วิธีประเมินผลอย่างไร ใช้เครื่องมืออะไร
|
ผู้ขับรถยนต์เปรียบเสมือนกับผู้ที่นำรถยนต์ไปสู่จุดหมายปลายทางที่ตนเองมุ่งหวังไว้
เสมือนการพัฒนาหลักสูตร ผู้พัฒนาต้องมีการวางแผน จัดองค์ประกอบหลักสูตรต่าง ๆ
เช่น จัดเตรียมเนื้อหา เตรียมการจัดประสบการณ์ต่างๆ จัดเตรียมเอกสารหลักสูตร ฯลฯ และดำเนินการนำหลักสูตรโดยไปใช้
โดยใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ อย่างหลากหลาย
เพื่อให้ผู้เรียนบรรลุตามจุดมุ่งหมายที่หลักสูตรกำหนด
|
4. แลกเปลี่ยนแนวคิดกับเพื่อนนักศึกษา
หรือผู้รู้ในประเด็น กฎหมายการศึกษา ที่เรียกว่า พระราชบัญญัติการศึกษา การศึกษา
และการพัฒนาแนวคิดจากต่างประเทศ
ตอบ ภาพรวมอิทธิพลของต่างประเทศที่มีต่อการจัดการศึกษาไทย
-- การจัดการศึกษายุคพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว --
การจัดการศึกษายุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง – การจัดการศึกษายุค โลกาภิวัตน์
การวิจัยครั้งนี้ได้ทำการวิจัยโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1)
ศึกษาอิทธิพลของต่างประเทศที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงแนวคิดทางการศึกษาของไทย 2)
นำเสนอนโยบายในการพัฒนาการศึกษาของไทยในอนาคต
โดยศึกษาเฉพาะอิทธิพลของประเทศตะวันตกเท่านั้น
และได้ศึกษาถึงพัฒนาการการจัดการศึกษาของประเทศไทยใน 3 ช่วงระยะเวลาคือ
ยุคของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองและยุคโลกาภิวัตน์ สำหรับอิทธิพลทางการศึกษาของต่างประเทศที่ส่งผลกระทบต่อการจัดการศึกษาของประเทศไทยนั้น
ได้ศึกษาผลกระทบใน 3 ด้านคือ ด้านปรัชญาและแนวคิดทางการศึกษา
ด้านกระบวนการจัดหลักสูตรและการสอนต่างๆ และด้านการบริหารจัดการศึกษา
ด้วยระเบียบวิธีวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ ซึ่งได้ผลสรุปดังนี้ ปรัชญาและแนวคิดทางการศึกษาของไทยได้รับอิทธิพลมาจากประเทศตะวันตกตั้งแต่สมัย
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ซึ่งในขณะนั้นได้รับอิทธิพลมาตามกระแสการคุกคามของประเทศตะวันตกที่ต้องการขยายอำนาจ
ตลอดจนพ่อค้า นักผจญภัย และหมอสอนศาสนา
ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านปรัชญาและแนวคิดทางการศึกษา
ที่มีทั้งผลดีและผลเสีย ได้แก่ การผลิตคนเข้ารับราชการได้ตามความต้องการของประเทศ
แต่ก็ยังผลให้เกิดภาวะคนล้นงาน เพราะทุกคนมุ่งจะศึกษาเล่าเรียนเพื่อเข้ารับราชการ
จนละทิ้งอาชีพและถิ่นฐานเดิมของตน จนภายหลังก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงปรัชญาและแนวคิดทางการศึกษา
ซึ่งก็ได้อิทธิพลส่วนใหญ่มาจากอังกฤษและญี่ปุ่น
ที่มีการพัฒนาการศึกษาตามแบบตะวันตก
ซึ่งมุ่งเน้นให้ประชาชนมีการเรียนวิชาชีพเพื่อสามารถพึ่งพาตนเองได้
และแก้ปัญหาคนล้นงาน ต่อมาในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
การจัดการศึกษาแบบอเมริกาได้มีบทบาทสำคัญต่อการศึกษาไทยโดยเฉพาะแนวคิดแบบพิพัฒนาการของ
John
Dewey ที่ยึดความสนใจของเด็กเป็นหลัก
เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้ถูกนำมาใช้ในโรงเรียน
ตลอดจนแนวคิดการศึกษาตลอดชีวิตและขององค์การยูเนสโกได้เข้ามาสู่ประเทศต่างๆ
รวมทั้งประเทศไทย มหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบเป็นอีกแนวคิดหนึ่งที่ได้รับมาจากองค์การยูเนสโก
ยังผลให้เกิดการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขึ้นมา
และอีกหลายแนวคิดที่ได้มีการนำไปใช้ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ
เมื่อเข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์ แนวคิดการเรียนรู้หรือการศึกษาตลอดชีวิตของ John
Dewey และสังคมแห่งการเรียนรู้ (Learning Society) อันเป็นแนวคิดทฤษฎีของ Ivan Illich ได้กลับมาเป็นแนวคิดที่สำคัญในการจัดการศึกษาของประเทศต่างๆทั่วโลก
ทำให้หลายๆประเทศต่างหันมาทำการปฏิรูปการศึกษา
เพื่อการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและเป็นการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้โดยมีการนำแนวคิดการศึกษาเพื่อปวงชน
(Education for all) และการให้สังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
(All for education) โดยที่ประเทศไทยเองได้มีพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ
พ.ศ. 2542 เกิดขึ้นซึ่งถือได้เป็นรูปธรรมของการปฏิรูปการศึกษาในประเทศ
การจัดหลักสูตรและการเรียนการสอนในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น
เป็นการจัดการศึกษาด้วยความต้องการที่จะรักษาบ้านเมืองให้รอดพ้นจากภัยคุกคามของต่างประเทศ
จึงได้มีการจัดการเรียนการสอนโดยเน้นเนื้อหาความรู้เป็นหลัก
และเห็นว่าการท่องจำจะทำให้ผู้เรียนนั้นฉลาดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองการจัดการศึกษาจะได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศในการให้การสนับสนุนให้มีโครงการทางการศึกษาต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นองค์การยูเนสโก องค์การไอซีเอ ยูซอม และธนาคารโลก
ที่คอยให้ความช่วยเหลือด้านการจัดการเรียนการสอน สื่อ อุปกรณ์ และทุนการศึกษา
เมื่อเข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์ การจัดหลักสูตรและการเรียนการสอนจะเป็นการจัดหลักสูตรที่ยึดแนวทาง
“ผู้เรียนเป็นสำคัญ” และ “การเรียนรู้ตลอดชีวิต”
ทั้งยังจัดหลักสูตรเพื่อให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้
และเป็นการเพิ่มศักยภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนสองภาษา
โรงเรียนวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
นอกจากนี้ก็ยังมีการนำเอาวิธีการจัดการเรียนการสอนของต่างประเทศเข้ามาใช้
อันได้แก่ โรงเรียนแนวเร็กจิโอ เอมิเลีย เป็นต้น
การบริหารจัดการศึกษาของประเทศไทยนั้นได้รับอิทธิพลภายนอกประเทศมากพอสมควร
ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เกิดจากการคุกคามทางการทหารและการเมืองของจักรวรรดินิยมตะวันตก
จนทำให้ต้องมีการปรับปรุงการบริหารจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพโดยในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น
จะเป็นการบริหารจัดการศึกษาที่พยายามรวมหน่วยงานต่างๆ
ที่เกี่ยวข้องกับทางการศึกษาให้อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานเพียงหน่วยงานเดียว
จนเกิดเป็นกรมธรรมการขึ้นมา
ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองการสนับสนุนจากองค์การต่างประเทศยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านการบริหารจัดการศึกษาระดับปฐมศึกษาของไทย
ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในครั้งนั้นคือการโอนกิจการบริหารโรงเรียนประชาบาลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดและโรงเรียนประถมศึกษาของกรมสามัญศึกษา
กระทรวงศึกษาธิการ ไปเป็นของสำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษา
และในส่วนของการศึกษาระดับอุดมศึกษาได้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยต่างๆ
และมีการพัฒนาคณาจารย์โดยได้รับทุนการศึกษาจากองค์กรต่างๆ เช่น มูลนิธิฟูลไบร์ท
องค์การยูเสด มหาวิทยาลัยอินเดียนาของประเทศสหรัฐอเมริกา
ทำให้จำนวนคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ
เพิ่มอย่างต่อเนื่องและเป็นปัจจัยที่ทำให้มหาวิทยาลัยสามารถขยายการจัดการศึกษาถึงระดับบัณฑิตศึกษาได้อย่างจริงจัง
จนมาถึงยุคโลกาภิวัฒน์ก็ได้เกิดการปฏิรูปการบริหารจัดการศึกษาที่มุ่งเน้นให้มีการกระจายอำนาจการบริหารจัดการศึกษาให้มีความทั่วถึง
และเกิดการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการจากหน่วยงานท้องถิ่น ชุมชน องค์กรต่างๆ
ตลอดจนมีการประกันคุณภาพการศึกษา ซึ่งเป็นแนวทางในการบริหารจัดการศึกษาที่หลายๆ
ประเทศได้ใช้ในการปฏิรูปการศึกษาในปัจจุบัน นโยบายการพัฒนาการศึกษาไทยในอนาคต
ได้แก่
การนำเอาปรัชญาทางการศึกษาจากต่างประเทศมาใช้โดยเฉพาะเรื่องนักเรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้
ควรสร้างความชัดเจนในการจัดการเรียนรู้โดยให้เกิดกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกๆ
ฝ่าย และควรได้เรียนรู้ด้วยประสบการณ์ที่ได้จากการปฏิบัติ
ด้วยบุคลากรที่มีคุณภาพและได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตามบริบททางการศึกษาของแต่ละแห่ง
ปรัชญาแนวคิดในเรื่องของการศึกษาตลอดชีวิตถึงได้ว่าเป็นแนวคิดที่ถูกต้อง
รัฐบาลจำเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ความสนับสนุนและกระตุ้นให้เกิดความต้องการในการพัฒนาตนเองของประชาชนในทุกๆ
ระดับ ทั้งทางด้านวิชาการและในส่วนของวิชาชีพต่างๆ
อย่างจริงจังตลอดจนการให้โอกาสทางการศึกษา เพื่อให้เกิดการพัฒนาในทุกระดับ
สำหรับการประกันคุณภาพการศึกษาเป็นการปฏิรูปการศึกษาที่น่าจะต้องใช้บุคลากรทางการศึกษาที่มีความรู้
ความสามารถทั้งทางด้านการพัฒนาหลักสูตร มาตรฐานการศึกษา สื่อการเรียนการสอน
การวัดและประเมินผล สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ทันกับยุคลสมัย
เพื่อให้เกิดการพัฒนาบุคลากรที่มีทั้งความสามารถและคุณธรรม จริยธรรม
อันจะช่วยเหลือประเทศชาติให้เข้าแข่งขันกับประเทศต่างๆ บนเวทีโลกได้
และการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาอย่างต่อเนื่องจะทำให้ระบบการศึกษามีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
ในเรื่องของการโอนการบริหารจัดการศึกษาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยตรงนั้น
ควรมีการกำหนดความสัมพันธ์กับเขตพื้นที่การศึกษา และมีบุคลากรทางด้านวิชาชีพการศึกษาตลอดจนมีความร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ
ในท้องถิ่นอย่างแท้จริง
การจัดการศึกษาของประเทศไทยจำเป็นต้องจัดการศึกษาให้มีความครอบคลุมและรอบรู้ในทุกๆ
ด้าน
สำหรับการเรียนรู้ผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตไม่ได้มีเพียงแต่เนื้อหาวิชาความรู้ที่เป็นประโยชน์เท่านั้น
หากแต่ยังมีข้อมูลข่าวสารบางส่วนที่ไม่เหมาะสมและอาจส่งผลให้เกิดวัฒนธรรมและค่านิยมที่ผิดๆ
อันจะส่งผลเสียแก่ผู้เรียนโดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น ดังนั้นรัฐและหน่วยงานต่างๆ
ที่เกี่ยวข้องควรมีการวางกรอบและแนวทางในการป้องกันไม่ให้ข้อมูลข่าวสารบางอย่างที่ไม่เหมาะสม
มีอิทธิพลต่อผู้เรียนจนทำให้เกิดเป็นปัญหาสังคมขึ้นได้ เงินอุดหนุนงบประมาณแผ่นดิน
ปี 2546
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น