วันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2561

กิจกรรม (Activity)


1. สืบค้นจากหนังสือหรือในระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เรื่อง  นิยาม ความหมาย : ทฤษฎี ทฤษฎีหลักสูตร ทฤษฎีการพัฒนาหลักสูตร
ตอบ  ทฤษฎี (theory) คือ สมมติฐานที่ได้รับการตรวจสอบและทดลองหลายครั้งหลายหนจนสามารถอธิบายข้อเท็จจริงสามารถคาดคะเนทำนายเหตุการณ์ทั่วๆไป ที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์นั้นอย่างถูกต้อง และมีเหตุผลเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป จึงเป็นผลให้สมมติฐานกลายเป็นทฤษฎี เช่น ทฤษฎีเซลล์ (Cell theory) ทฤษฏีวิวัฒนาการ (the evolution theory) เป็นต้น หรือ คือกลุ่มความสัมพันธ์ของแนวคิดคำนิยาม และองค์ประกอบต่าง ๆ ที่ใช้อธิบายลักษณะของปรากฏการณ์หนึ่ง และชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่าง ๆ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะอธิบายหรือคาดเดาปรากฏการณ์นั้น
        ทฤษฎี (Theory)” มาจากภาษากรีกว่า Theoria หมายความว่า การตื่นตัวของจิตใจ ดังนั้นทฤษฎีเป็นลักษณะของการมองความจริงอันบริสุทธิ์
        ราชบัณฑิตยสถาน (2542: 504) ให้ความหมายคำว่า “ทฤษฎี” หมายถึง ความเห็น การเห็นด้วยใจ ลักษณะที่คิดคาดเอาตามหลักวิชา เพื่อเสริมเหตุผลและรากฐานให้แก่ปรากฏการณ์หรือข้อมูลในภาคปฏิบัติ ซึ่งเกิดขึ้นมาอย่างมีระเบียบ
        แคปแลน (Kaplan, A. 1964) กล่าวไว้ว่า “ทฤษฎี” เป็นแนวทางที่ช่วยให้เข้าใจสถานการณ์ที่ทำให้วิตกกังวลด้วยการกระทำอย่างมีประสิทธิผลในการทำความเข้าใจจากปรากฏการณ์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การละทิ้งหรือปรับเปลี่ยนสถานการณ์ต่างๆ เข้าด้วยกันและทดแทนด้วยสถานการณ์ใหม่ที่ต้องการ     
        ทฤษฎีหลักสูตร (Curriculum Theory) หมายถึง ข้อความที่อธิบายความหมายของหลักสูตรโดยชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ชี้นำแนวทางการพัฒนาการใช้และการประเมินผลหลักสูตรประกอบกัน
        จอห์นสัน (Johnson, 1967, 130) นิยามหลักสูตรเป็นความตั้งใจเพื่อให้ได้ผลการเรียนรู้ โดยผลการเรียนรู้นี้เป็นผลสูงสุดที่เป็นไปได้ที่เป็นความแตกต่างระหว่างทฤษฎีที่เกี่ยวกับหลักสูตรที่เป็นแผนและทฤษฎีที่เป็นวิถีทางด้วยแผนที่สร้างขึ้นใช้โดยทั่วไปนักหลักสูตรไม่เพียงต้องประเชิญกับการทำความเข้าใจหรือไม่ก็การอธิบาย แต่เป็นการจัดการในปัจจุบันและสร้างการรับรองและจุดเริ่มต้นของแนวทางในการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรในอนาคต
          การพัฒนาหลักสูตร
        วิชัย  วงษ์ใหญ่ (2525 : 10) กล่าวว่า การพัฒนาหลักสูตร คือ การพยายามวางโครงการที่จะช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้ตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ หรือการพัฒนาหลักสูตรและการสอนคือระบบโครงสร้างของการจัดโปรแกรมการสอน การกำหนดจุดมุ่งหมาย เนื้อหาสาระ การปรับปรุงตำรา แบบเรียน คู่มือครู และสื่อการเรียนต่างๆ การวัดและการประเมินผลการใช้หลักสูตร การปรับปรุงแก้ไขและการให้การอบรมครูผู้ใช้หลักสูตรให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการพัฒนาหลักสูตรและการสอน รวมทั้งการบริหารและบริการหลักสูตร หลักการพัฒนาหลักสูตร
        ทาบา (Taba 1962 : 454) กล่าวว่า การพัฒนาหลักสูตร หมายถึง การเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงหลักสูตรอันเดิมให้ได้ผลดียิ่งขึ้นในด้านการวางจุดมุ่งหมาย การจัดเนื้อหาการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายใหม่ที่วางไว้
        กล่าวโดยสรุป การพัฒนาหลักสูตร หมายถึง กระบวนการสร้างและทดสอบคุณภาพของหลักสูตรที่นำวิธีการเชิงระบบมาประยุกต์ใช้ โดยเฉพาะการนำการนำกระบวนการวิจัยและพัฒนามาใช้ในการสร้างและทดสอบคุณภาพหลักสูตรที่พัฒนาขึ้น
       
2. ศึกษาทำความเข้าใจเพิ่มเติมจาก สุเทพ อ่วมเจริญ การพัฒนาหลักสูตร: ทฤษฎีและการปฏิบัติ “การพัฒนาหลักสูตร : ทฤษฎีหลักสูตร”
ตอบ  แบบจำลองการพัฒนาหลักสูตร SU Model
       จากการศึกษาแนวคิดของนักพัฒนาหลักสูตรทั้งต่างประเทศและในประเทศ มีผู้สร้างแบบจำลองการพัฒนาหลักสูตรมากมาย เช่น โอลิวา (Oliva) ไทเลอร์ (Tyler) เซเลอร์ อเล็กซานเดอร์และเลวีส ทาบา (Taba) และวิชัย วงษ์ใหญ่ เป็นต้น จากแบบจำลองของนักพัฒนาหลักสูตรดังกล่าว จึงสามารถสรุปเป็นแบบจำลองการพัฒนาหลักสูตร SU Model ดังนี้

ภาพประกอบที่ 7 SU Model
ที่มา สุเทพ อ่วมเจริญ 2555 : 78
        SU Model คือ รูปแบบจำลองโลกแห่งการศึกษา โดยประกอบด้วยวงกลม ซึ่งเปรียบเสมือนจักรวาลแห่งการเรียนรู้ ที่มีพื้นฐานที่สำคัญ 3 ด้าน คือ 1) พื้นฐานด้านปรัชญา 2) พื้นฐานด้านจิตวิทยา และ 3) พื้นฐานด้านสังคม ด้านสามเหลี่ยมระหว่างความรู้กับผู้เรียนมีพื้นฐานสำคัญคือ พื้นฐานด้านปรัชญา ด้านสามเหลี่ยมระหว่างผู้เรียนกับสังคมมีพื้นฐานสำคัญคือ พื้นฐานด้านจิตวิทยา และด้านสามเหลี่ยมระหว่างสังคมกับความรู้มีพื้นฐานสำคัญคือ พื้นฐานด้านสังคม
เมื่อพิจารณาพื้นฐานด้านปรัชญา แนวคิดของการพัฒนาหลักสูตรที่มีจุดหมายของหลักสูตรที่มุ่งเน้น ความรู้ (Knowledge) กำกับด้วยปรัชญาทางการศึกษา 2 ปรัชญา คือ ปรัชญาสารัตถนิยม (Essentialism) ซึ่งมีแนวคิดในการจัดการเรียนการสอนเพื่อเป็นการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม ประเพณี และ ปรัชญานิรันดรนิยม (Perenialism) ที่มีแนวคิดในการจัดการเรียนการสอนด้วยเหตุผล เรียนรู้ในสิ่งที่เป็นเนื้อหาสาระที่มั่นคง การพัฒนาหลักสูตรที่มีจุดหมายของหลักสูตรที่มุ่งเน้น ผู้เรียน (Learner) กำกับด้วยปรัชญาการศึกษาอัตถิภาวะนิยม (Existentialism) ซึ่งมีแนวคิดที่ให้บุคคลมีเสรีภาพในการเลือกด้วยตนเอง มีแนวทางการจัดการศึกษาโดยให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเลือกประสบการณ์ในการเรียนรู้ด้วยตนเอง และการพัฒนาหลักสูตรที่มีจุดหมายของหลักสูตรที่มุ่งเน้น สังคม (Social) จะกำกับด้วยปรัชญาการศึกษาปฏิรูปนิยม (Reconstructionism) โดยมีแนวคิดในการจัดการศึกษาให้กับผู้เรียนควรเป็นไปเพื่อการพัฒนาสังคม เนื่องจากสังคมมีปัญหา
กระบวนการพัฒนาหลักสูตรตามแนวคิดแบบจำลอง SU Model
       กระบวนการพัฒนาหลักสูตรประกอบด้วยขั้นตอนในการจัดทำหลักสูตร โดยประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ดังนี้
       สามเหลี่ยมแรก เป็นการวางแผนหลักสูตร (Curriculum Planning) ซึ่งจะเห็นว่ากำกับด้วยความรู้ (Knowledge) และสอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาหลักสูตรของไทเลอร์คำถามที่หนึ่งคือ มีจุดมุ่งหมายอะไรบ้างในการศึกษาที่โรงเรียนต้องแสวงหา เพราะว่าหลักสูตรต้องมีจุดหมายที่ชัดเจน เพื่อนำไปวางแผนและกำหนดจุดมุ่งหมายของหลักสูตร หลักสูตรต้องวางแผนให้มีเนื้อหาครบคลุมในสิ่งที่ผู้เรียนต้องรู้และต้องเรียน
       การวางแผนหลักสูตร มีแนวปฏิบัติ ดังนี้
1. ผู้พัฒนาหลักสูตรศึกษาสาระสำคัญของความรู้ในประเด็นการวางแผนหลักสูตรจากแหล่งความรู้ต่างๆให้กระจ่างแจ้ง
2. ทำความเข้าใจต่อข้อมูลที่ศึกษามา แล้วนำข้อมูลดังกล่าวมาประมวลผลให้อยู่ในรูปสารสนเทศ
3. ผู้พัฒนาหลักสูตรฝึกเขียนการวางแผนหลักสูตรโดยนำสาระสำคัญมาจาก 21st Century Skills: The Challenges Ahead; A World Class Education ทักษะแห่งอนาคตใหม่: การศึกษาเพื่อศตวรรษที่ 21 เป็นต้น ซึ่งขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนของการเขียน วิสัยทัศน์ (Vision) ของหลักสูตร
       สามเหลี่ยมรูปที่สอง เป็นการออกแบบ (Curriculum Design) คือการนำจุดหมายและจุดมุ่งหมายของหลักสูตร มาทำกรอบการปฏิบัติ ซึ่งจะเห็นว่ากำกับด้วยผู้เรียน (Learner) และสอดคล้องกับคำถามที่สองของไทเลอร์ คือ มีประสบการณ์การศึกษาอะไรบ้างที่โรงเรียนควรจัด เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายในการศึกษา ดังนั้นการออกแบบหลักสูตรจึงเน้นการออกแบบเนื้อหา (Content) ประสบการณ์การเรียนรู้ หรือกิจกรรมการเรียนรู้ (Learning Activities) ที่ก่อให้เกิดความรู้แก่ผู้เรียน เพื่อให้ตอบสนองจุดหมายและจุดมุ่งหมายของหลักสูตร
การออกแบบหลักสูตร มีแนวปฏิบัติ ดังนี้
1. ผู้พัฒนาหลักสูตรศึกษาสาระสำคัญของความรู้ในประเด็นการออกแบบหลักสูตรจากแหล่งความรู้ต่างๆให้กระจ่างแจ้ง
2. ทำความเข้าใจต่อข้อมูลที่ศึกษามา แล้วนำข้อมูลดังกล่าวมาประมวลผลให้อยู่ในรูปสารสนเทศ
3. ผู้พัฒนาหลักสูตรฝึกเขียนการออกแบบหลักสูตร โดยนำสาระสำคัญมาจากโมเดลต้นแบบเชิงวัตถุประสงค์ (Objective Model) หรือโมเดลต้นแบบเชิงเหตุผล การปรับปรุงโมเดลโดยฮิลดา ทาบา รูปแบบของการออกแบบหลักสูตรที่เน้นเนื้อหาวิชา เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และเน้นปัญหาสังคมเป็นสำคัญ หลักการออกแบบหลักสูตร 7 ประการของสก็อตแลนด์ แนวคิดการออกแบบหลักสูตรที่ส่งเสริมความเป็นเลิศในการเรียนรู้และการสอนของมหาวิทยาลัยกิฟฟิธ การออกแบบหลักสูตรรายวิชาตามแนวคิดของเวสมินส์เตอร์ เอ็กเชงจ์ มหาวิทยาลัยเวสมินเตอร์ และการออกแบบหลักสูตรด้วยแนวคิดวัตถุประสงค์เป็นฐาน เป็นต้น ซึ่งขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนของการเขียนพันธกิจ (Mission) ของหลักสูตร
       สามเหลี่ยมรูปที่สาม เป็นการจัดหลักสูตร (Curriculum Organization) ซึ่งจะเห็นว่ากำกับด้วยผู้เรียน (Learner), ความรู้ (Knowledge) และสังคม (Society) ทั้งยังสอดคล้องกับคำถามที่สามของไทเลอร์ คือจัดประสบการณ์การเรียนรู้อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งการจัดหลักสูตรให้มีประสิทธิภาพ มีความหมายรวมถึง การบริหารจัดการหลักสูตร การจัดการเรียนรู้ การนิเทศการศึกษา การนิเทศการสอน เพื่อให้นักเรียนเกิดความรู้และบรรลุวัตถุประสงค์ของหลักสูตร พร้อมกับสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการอยู่ในสังคมอย่างเป็นสุข
การจัดหลักสูตร มีแนวปฏิบัติ ดังนี้
1. ผู้พัฒนา รวบรวมข้อมูลความรู้และทำความเข้าใจให้กระจ่างแจ้ง
2. ทำความเข้าใจต่อข้อมูลที่ศึกษามา แล้วนำข้อมูลดังกล่าวมาประมวลผลให้อยู่ในรูปสารสนเทศ
3. ยืนยันความถูกต้องและการใช้ข้อมูลใหม่ โดยนำความรู้ตามแนวคิดของออร์นสไตน์และฮันกิน ไปออกแบบเป็นหลักสูตร
       สามเหลี่ยมรูปที่สี่ การประเมินหลักสูตร (Curriculum Evaluation) เป็นการประเมินหลักสูตร และผลการเรียนรู้ตามหลักสูตร ซึ่งจะเห็นว่ากำกับด้วยสังคม (Society) และสอดคล้องกับคำถามที่สี่ของไทเลอร์ คือ ประเมินประสิทธิ์ผลของประสบการณ์ในการเรียนอย่างไร เพราะว่าการประเมินผลการเรียน ความรู้และการจัดการเรียนการสอนจะทำให้นักเรียนได้ความรู้ที่สามารถนำไปใช้ในสังคม
การประเมินหลักสูตร มีแนวปฏิบัติ ดังนี้
1. ผู้พัฒนาศึกษาข้อมูลและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการประเมินหลักสูตรให้กระจ่างแจ้ง
2. นำความรู้ที่รวบรวมได้ มาประมวลเป็นข้อมูลใหม่ โดยนำเสนอในรูปแบบสารสนเทศ
3. ผู้พัฒนาศึกษาแนวคิดการประเมินหลักสูตร แล้วเลือกใช้รูปแบบการประเมินหลักสูตรตามความสนใจเมื่อผู้พัฒนาต้องการประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน ผู้พัฒนาต้องใช้เครื่องมือวัดในการประเมิน เช่น แบบทดสอบความรู้ตามสภาพจริง แบบสังเกตพฤติกรรม การประเมินการเรียนรู้โดยใช้แฟ้มสะสมงาน แล้วกำหนดเกณฑ์การประเมินโดยใช้ The SOLO Taxonomy

3. แลกเปลี่ยนแนวคิดกับเพื่อนนักศึกษา หรือผู้รู้เกี่ยวกับ ทฤษฎีทางการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตร และการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่เปิดสอนในสาขาวิชาเอก
ตอบ  ทฤษฎีการศึกษา  คือ การผสมผสานทฤษฎีการศึกษาต่างๆ (Eclecticism) การประยุกต์เอาหลักการและทฤษฎีทางการศึกษาไปใช้เป็นหลักในการจัดการศึกษานั้นกระทำกันหลายวิธี โดยทั่วไปมักจะใช้วิธีผสมผสานโดยเลือกสรรหลักการที่ดีของหลายทฤษฎีที่พอจะประมวลเข้าด้วยกันได้โดย ไม่ขัดแย้งกัน มาใช้เป็นแนวการจัดการศึกษา
       หลักสูตรอุดมศึกษาการศึกษาในระดับอุดมศึกษาไม่ใช่การศึกษาภาคบังคับแต่เป็นการศึกษาเพื่อพัฒนากำลังคนขั้นสูง ที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทาง (เช่น แพทย์ พยาบาล นักกฎหมาย วิศวกร นักบัญชี ฯลฯ) ควบคู่กันไปกับการพัฒนาให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ในลักษณะเช่นนี้ หลักสูตรในระดับอุดมศึกษา ในระดับปริญญาตรีจึงมีโครงสร้างหลักสูตรและองค์ประกอบหลักสูตรดังนี้
(1) โครงสร้างหลักสูตร ได้แก่ จำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร จำนวนหน่วยกิตในแต่ละหมวดวิชาต้องเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรที่สำนักคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้กำหนดไว้ในปี 2548
(2) องค์ประกอบของหลักสูตร ประกอบด้วย 3 หมวดวิชา คือ
        (2.1) หมวดวิชาศึกษาทั่วไป (General Education) มีจุดหมายเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์                   (2.2) หมวดวิชาเฉพาะ (Specialized Education)เป็นส่วนสำคัญของหลักสูตร ที่เน้นเพื่อพัฒนาคนและสังคมในแต่ละสาขาวิชา
        (2.3) หมวดวิชาเลือกตามความสนใจและเสริมสร้างประสบการณ์ (Exploratory and Enrichment Education) มีจุดมุ่งหมายเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนวิชาที่สนใจนอกเหนือจากวิชาในสาขาวิชาชีพและวิชาในหมวดศึกษาทั่วไป รวมทั้งรายวิชาอื่น ๆ ที่ช่วยเสริมสร้างประสบการณ์ให้กับผู้เรียน
องค์ประกอบของหลักสูตรทั้ง 3 หมวดวิชาดังกล่าว จะมีบางส่วนที่ซ้อนกันอยู่ในลักษณะของวิชาหรือเนื้อหาวิชา และมีบางส่วนที่แยกจากกัน (รูปที่ 2)

รูปที่ 2 องค์ประกอบของหลักสูตรทั้ง 3 หมวดวิชาจะมีส่วนที่ซ้อนกันและส่วนที่แยกจากกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น