วันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2561
หลักสูตรบูรณาการ
หลักสูตรบูรณาการ
หลักสูตรบูรณาการ (The
Integrated Curriculum) เป็นหลักสูตรที่พัฒนามาจากหลักสูตรกว้างโดยนำเอาเนื้อหาของวิชาต่างๆ
มาหลอมรวม ทำให้เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละวิชาหมดไป
การผสมผสานเนื้อหาของวิชาต่างๆ เข้าเป็นเนื้อเดียวกันทำได้หลายวิธี
ซึ่งจะได้ชี้ให้เห็นต่อไปอย่างไรก็ตามที่มีการจัดทำหลักสูตรบูรณาการขึ้นไม่ใช่เพียงเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของหลักสูตรหลายวิชาเท่านั้นมีเหตุผลและความคิดพื้นฐานซึ่งสนับสนุนอยู่ด้วยจะขออธิบายให้ทราบโดยสังเขปดังต่อไปนี้
1. เหตุผลและพื้นฐานความคิด
1.1
เหตุผลทางจิตวิทยาและวิชาการ
ก.
โดยธรรมชาติเด็กหรือผู้เรียนจะมีความสนใจ
ฉงนสนเทห์และมีความกระตือรือร้นในการที่จะแสวงหาความรู้และสร้างความเข้าใจในสิ่งต่างๆ
อยู่เสมอสมองของเด็กจะไม่จำกัดอยู่กับ
การเรียนรู้วิชาใดวิชาหนึ่งเป็นส่วนๆ
โดยเฉพาะเมื่อมีการแสวงหาความรู้ก็จะเรียนรู้หลายๆ อย่างพร้อมๆ กัน
ด้วยเหตุนี้หลักสูตรบูรณาการจึงเป็นหลักสูตรที่เหมาะสมเพราะจะสามารถสนองความต้องการของเด็กหรือผู้เรียนได้
ข.
จากผลการวิจัยเรื่องพัฒนาการทางปัญญาของเด็กในชั้นประถมศึกษา
แสดงว่าพัฒนาการทางปัญญาจะดำเนินไปเป็นขั้นๆ
แต่ละขั้นจะแตกต่างกันไปและพัฒนาการของแต่ละคนก็จะมีอัตราความเจริญต่างกัน
แต่ที่สำคัญคือพัฒนาการนั้นจะดำเนินไปด้วยดีในเมื่อเด็กหรือผู้เรียนได้มีประสบการณ์ด้วยตนเอง
ยิ่งประสบการณ์มีความหลากหลายเพียงใด โอกาสในการพัฒนาการก็ยิ่งมีมากเพียงนั้น
เมื่อมาพิจารณาดูหลักสูตรบูรณาการที่มีลักษณะครอบคลุมวิชาหลายวิชาก็จะเห็นว่าเป็นหลักสูตรที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้มีประสบการณ์หลายด้าน
ค. หลักสูตรบูรณาการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้สัมผัสกับสื่อการเรียนการสอนหลายๆ
อย่างและให้ได้มีโอกาสแก้ปัญหาด้วยตนเอง ซึ่งเป็นการสนับสนุนการเรียนรู้
อนึ่งแบบฉบับของหลักสูตรยังกระตุ้นและสนองความต้องการทางปัญญาและอารมณ์ของผู้เรียนได้
ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ต่อเนื่องกันไปการเรียนการสอนจะต้องดำเนินไปอย่างมีชีวิตชีวา
โดยเฉพาะในด้านการส่งเสริมความคิดริเริ่มหลักสูตรแบบนี้ทำได้ดีมากส่วนดีอีกประการหนึ่งของหลักสูตรคือช่วยลดภาวะที่จะต้องท่องจำลงไปอย่างมาก
1.2 เหตุผลทางสังคมวิทยา
ก. เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า
การศึกษาจะเกิดผลดีที่สุดก็ต่อเมื่อให้ผู้เรียนสามารถตอบปัญหาในชีวิตประจำวันได้
ด้วยเหตุนี้หลักสูตรจึงต้องเป็นหลักสูตรสนับสนุนสิ่งดังกล่าวซึ่งคุณสมบัตินี้มีอยู่ในหลักสูตรบูรณาการกล่าวคือ
ประสานสัมพันธ์ระหว่างสาขาวิชาต่างๆ ใช้ปัญหาหรือกิจกรรมเป็นศูนย์กลางของหลักสูตรอันจะมีผลให้ผู้เรียนได้รับความรู้ทักษะและเจคติความต้องการของชีวิต
1.3 เหตุผลทางการบริหาร
ก.
หลักสูตรบูรณาการช่วยให้ลดตำราเรียนได้ คือแทนที่จะแยกเป็นตำราสำหรับ แต่ละวิชา
ซึ่งทำให้ต้องใช้ตำราหลายเล่ม ก็อาจรวมเนื้อหาของหลายวิชาไว้ในตำราเล่มเดียวกันและยังสามารถทำให้เป็นที่น่าสนใจมากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ในกรณีที่ขาดแคลนครู
หลักสูตรบูรณาการซึ่งอาศัยการสอนโดยใช้กิจกรรมเป็นหลักจะช่วยให้ครูหนึ่งคนสามารถสอนได้มากกว่าหนึ่งชั้นในเวลาเดียวกัน
การผสมผสานวิชาเพื่อให้ได้หลักสูตรบูรณาการ ทำได้หลายวิธีหลายรูปแบบ
ดังนั้น
การตีความหมายของหลักสูตรจึงทำได้อยาก
อย่างไรก็ตามสิ่งที่เห็นเด่นชัดประการหนึ่งก็คือหลักสูตรนี้ก้าวข้ามขั้นจากวิธีการที่รวมวิชาเข้าด้วยกันแบบธรรมดา
ที่ยังทิ้งร่องรอยของวิชาเดิมไว้
แต่เป็นการหลอมรวมในลักษณะที่เอกลักษณ์ของวิชาเดิมไม่คงเหลืออยู่เลย
ดังนั้นความรู้หรือทักษะที่ผู้เรียนได้รับจึงเกิดจากการเรียนรู้หลายวิชาในขณะเดียวกัน
ตามแนวความคิดข้างบนนี้อาจกล่าวได้ว่า
หลักสูตรบูรณาการคือหลักสูตรที่โครงสร้างของเนื้อหาวิชามีลักษณะเป็นสหวิทยาการ(Inter-disciplinary)
คือมีการผสมผสานอย่างกลมกลืน
แนบแน่นระหว่างองค์ประกอบการเรียนรู้ทุกด้านอันได้แก่ พุทธิพิสัย จิตพิสัย
และทักษะพิสัยและ
มีกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นสหวิทยาการ (Inter-disciplinary
Learning) ด้วย
ในบางตำรากล่าวว่าหลักสูตรบูรณาการ
คือหลักสูตรที่โครงสร้างของเนื้อหาวิชามีลักษณะเป็นหัวข้อหรือกิจกรรม หรือปัญหา
ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการเรียนรู้แบบสหวิทยาการ
หลักสูตรบูรณาการที่มีใช้อยู่ในประเทศต่างๆ ในเอเชีย
มีทั้งที่เป็นหลักสูตรบูรณาการเต็มรูปและไม่เต็มรูป
มีหลายประเทศที่เห็นว่าวิชาประเภททักษะเช่น คณิตศาสตร์ และภาษาถ้าจะจัดการเรียนการสอนให้เกิดผลดี
ควรจัดหลักสูตรเป็นแบบรายวิชาหรือหลักสูตรกว้าง
2. ลักษณะของหลักสูตรบูรณาการที่ดี
ในการผสมผสานวิชาหรือสาขาวิชาต่างๆ
เพื่อให้ได้หลักสูตรบูรณาการนั้น
ถ้าจะให้ดีจริงๆนักพัฒนาหลักสูตรจะต้องพยายามให้เกิดบูรณาการในลักษณะต่อไปนี้โดยครบถ้วนคือ
1.
บูรณาการระหว่างความรู้และกระบวนการเรียนรู้
แต่เดิมเมื่อสภาพและปัญหาสังคมยังไม่สลับซับซ้อน และปริมาณเนื้อหาก็ยังไม่มีมากนัก
การเรียนรู้ซึ่งใช้วิธีการถ่ายทอดความรู้อย่างง่ายๆ เช่นการบอกเล่า การบรรยาย
และการท่องจำ อาจทำได้โดยไม่มีปัญหาอะไรในกรณีนี้ความสัมพันธ์ระหว่างความรู้กับกระบวนการเรียนรู้เกือบไม่มีอยู่เลยและการเรียนรู้ก็นับว่ามีประสิทธิภาพพอสมควร
แต่ในปัจจุบันปริมาณความรู้มีมาก สภาพและปัญหาสังคมสลับซับซ้อน การเรียนรู้จะกระทำอย่างเดิมย่อมไม่ได้ผลดี
ถ้าจะให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพเราจำเป็นต้องให้กระบวนการการเรียนรู้มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับความรู้
ทั้งนี้หมายความว่าผู้เรียนจะต้องทราบว่าตนจะแสวงหาความรู้ได้อย่างไรและด้วยกระบวนการอย่างไร
2.
บูรณาการระหว่างพัฒนาการทางความรู้และพัฒนาการทางจิตใจ มีผู้กล่าวตำหนิว่าการศึกษามักจะให้ความเอาใจใส่ต่อการพัฒนาจิตใจน้อยไป
คือมุ่งในด้านพุทธิพิสัยอันได้แก่ความรู้ความคิดและการแก้ปัญหา
มากกว่าด้านจิตพิสัย คือ เจตคติ ค่านิยม ความสนใจ
และความสุนทรียภาพซึ่งตามความเป็นจริงแล้วทั้งพุทธิพิสัยและจิตพิสัยก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
และเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออก
เพราะการเรียนรู้วิชาการหรือทักษะในด้านหนึ่งด้านใดโดยปราศจากความรู้สึกในคุณค่าของสิ่งที่เรียน
ย่อมเป็นไปไม่ได้
ในทางกลับกันถ้าผู้เรียนได้รับประสบการณ์ที่สร้างความรู้สึกพึงพอใจและประทับใจ
ก็จะมุ่งมั่นในการเรียนและเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยเหตุนี้การสร้างบูรณาการระหว่างความรู้และจิตใจจึงเป็นสิ่งจำเป็น
3.
บูรณาการระหว่างความรู้และการกระทำ การสร้างสหสัมพันธ์ระหว่างความรู้และ
การกระทำมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าระหว่างความรู้และจิตใจ
โดยเฉพาะในด้านจริยศึกษา
การเรียนรู้เรื่องค่านิยมและการส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความสามารถในการเลือกค่านิยมที่เหมาะสมจะปรากฏผลดีหรือไม่ยอมขึ้นอยู่กับพฤติกรรมหรือการแสดงออกของผู้เรียน
การแยกความรู้ออกจากการกระทำก็เหมือนกับการแยกหลักสูตรออกเป็นส่วนๆ
ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นการบูรณาการความรู้และการกระทำเข้าด้วยกัน
จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น
4.
บูรณาการระหว่างสิ่งที่เรียนในโรงเรียนกับสิ่งที่เป็นอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้เรียนสิ่งหนึ่งที่จะพิสูจน์ว่าหลักสูตรดีหรือไม่ดี
คือผลที่เกิดแก่คุณภาพของชีวิตผู้เรียน ด้วยเหตุนี้การบูรณาการวิชาต่างๆ
ในหลักสูตรเราจึงต้องแน่ใจว่าสิ่งที่สอนในห้องเรียนนั้นมีความหมายและมีคุณค่าต่อชีวิตของผู้เรียนไม่ว่าผู้เรียนจะอยู่ที่ใด
การที่ให้เกิดผลดังกล่าวได้
หลักสูตรจะต้องกำหนดให้ความสนใจและความต้องการมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของผู้เรียน
และให้เป็นศูนย์กลางของกระบวนการเรียนการสอน
5. บูรณาการระหว่างวิชาต่างๆ
ถ้าเรายอมรับว่าบูรณาการระหว่างความรู้กับจิตใจ
และระหว่างความรู้กับการกระทำเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญ และเป็นสิ่งที่สามารถทำได้
เราก็ย่อมจะมองเห็นความจำเป็นและความสำคัญของการที่จะบูรณาการวิชาต่างๆ
เข้าด้วยกันซึ่งอาจทำได้โดยนำเอาเนื้อหาของวิชาหนึ่งมาเสริมอีกวิชาหนึ่ง
เพื่อให้ผู้เรียนได้รับความรู้และเกิดเจตคติตามที่ต้องการ
หรือโดยกำหนดปัญหาหรือความต้องการของผู้เรียนเป็นหัวข้อแล้วกำหนดหลักสูตรหรือโปรแกรมการเรียนการสอนขึ้น
โดยอาศัยเนื้อหาของหลายๆ วิชามาช่วยในการแก้ปัญหานั้น
3. รูปแบบของบูรณาการ
หลักสูตรบูรณาการเท่าที่มีอยู่ในเวลานี้มี
3 รูปแบบ แต่ในการปฏิบัติจริงมักจะมีการผสมกันระหว่างรูปแบบต่างๆ
ที่นำมาจำแนกให้เห็นก็เพื่อความเข้าใจว่าพื้นฐานที่แท้จริงของแต่ละรูปแบบนั้นเป็นอย่างไร
1.
บูรณาการภายในหมวดวิชา
เราได้ทราบแล้วว่าหลักสูตรกว้างนั้นเป็นหลักสูตรที่ได้มี การนำเอาวิชาหลายๆ วิชามารวมกันในลักษณะที่ผสมกลมกลืน
แทนที่จะนำเอาเนื้อวิชามาเรียงลำดับกันเฉยๆ ตัวอย่างเช่น ในวิทยาศาสตร์ทั่วไป
ได้มีการนำเอาเนื้อหาวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา มารวมกัน
และต่อมาก็นำเอาวิชาโภชนาการ สุขศึกษา และสิ่งแวดล้อมมาผสมผสานด้วย
หรือในวิชาสังคมศึกษา ก็นำเอาประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ หน้าที่พลเมือง จริยศึกษา ซึ่งเป็นการสอดคล้องกับแนวความคิดของหลักสูตรที่ว่าการเรียนรู้ต้องมีลักษณะเป็นสหวิทยาการ
2. บูรณาการ ภายในหัวข้อ
และโครงการ หลายประเทศในเอเชียนิยมใช้วิธีการแบบนี้คือ การนำเอาความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ ของวิชาหรือหมวดวิชาตั้งแต่สองวิชาหรือหมวดวิชาขึ้นไป
มาผสมผสานกันในลักษณะที่เป็นหัวข้อหรือโครงการ
ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้เรียนและในแต่ละหัวข้อจะมีการแบ่งเป็นหน่วยการเรียน
(Units
of Learning) ด้วยทำให้เกิดหลักสูตรบูรณาการที่เราเรียกว่า
หลักสูตรเพื่อชีวิตและสังคม (The Social Process and Life Function
Curriculum)
3.
บูรณาการโดยการผสมผสานปัญหาและความต้องการของผู้เรียนและของสังคม
หลักสูตรที่ใช้การผสมผสานแบบนี้
ความจริงก็มีรูปแบบเหมือนอย่างสองแบบแรกที่ได้กล่าวมาแล้วคืออาจผสมผสานภายในหมวดวิชาหรือภายในหัวข้อและโครงการก็ได้
สิ่งที่แตกต่างออกไปคือหัวข้อหรือหน่วยการเรียน
หรือโครงการจะเน้นการแก้ปัญหาชีวิตประจำวันของผู้เรียนไม่ว่าปัญหาส่วนตัว
ปัญหาชุมชน ปัญหางานอาชีพ ปัญหาสังคม ฯลฯ
ตัวอย่างของหัวข้อหรือหน่วยการเรียนได้แก่ “มลภาวะจากอากาศ น้ำและเสียง” “การตกต่ำของผลผลิตทางการเกษตรกรรม”
“การตัดไม้ทำลายป่าและการทำลายทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ” “สภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ” “โรคที่สำคัญ” ฯลฯ
ในการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาข้างต้นนี้
ผู้เรียนจำเป็นต้องศึกษาหาความรู้จากวิทยาการต่างๆ หลายสาขา รวมทั้งต้องมีทักษะที่จำเป็นในการแก้ปัญหาด้วย
การเรียนรู้จึงมีลักษณะเป็นบูรณาการเนื่องจากต้องผสมผสานวิชาต่างๆ
ในการแก้ปัญหาสิ่งที่ปรากฏชัดในการเรียนรู้
หลักสูตรปฐมวัย พุทธศักราช 2546
หลักสูตรปฐมวัย พุทธศักราช 2546
ปรัชญาการศึกษาปฐมวัย
การศึกษาปฐมวัยเป็นการพัฒนาเด็ก ตั้งแต่แรกเกิดถึง ๕ ปี*บนพื้นฐาน การอบรมเลี้ยงดูและการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้
ที่สนองต่อธรรมชาติ และพัฒนาการของเด็กแต่ละคน ตาม ศักยภาพ ภายใต้บริบทสังคม-วัฒนธรรม ที่เด็กอาศัยอยู่ ด้วยความรัก ความเอื้ออาทร
และความเข้าใจของทุกคน
เพื่อสร้างรากฐานคุณภาพชีวิตให้เด็กพัฒนาไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
เกิดคุณค่าต่อตนเองและสังคม
หลักการ
เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการอบรมเลี้ยงดูและส่งเสริมพัฒนาการ
ตลอดจน การเรียนรู้อย่างเหมาะสม
ด้วยปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเด็กกับพ่อแม่ เด็กกับผู้เลี้ยงดู หรือบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการอบรมเลี้ยงดูและให้การศึกษาเด็กปฐมวัย เพื่อให้เด็กมีโอกาสพัฒนาตนเองตามลำดับขั้นของพัฒนาการทุกด้าน
อย่างสมดุลและเต็มตามศักยภาพ โดยกำหนดหลักการ ดังนี้
๑. ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาการที่ครอบคลุมเด็กปฐมวัยทุกประเภท
๒. ยึดหลักการอบรมเลี้ยงดูและให้การศึกษาที่เน้นเด็กเป็นสำคัญ
โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล และวิถีชีวิตของเด็กตามบริบทของชุมชน สังคม
และวัฒนธรรมไทย
๓. พัฒนาเด็กโดยองค์รวมผ่านการเล่นและกิจกรรมที่เหมาะสมกับวัย
๔. จัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้สามารถดำรงชีวิตประจำวันได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุข
๕. ประสานความร่วมมือระหว่างครอบครัว ชุมชน และสถานศึกษาในการพัฒนาเด็ก
หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย
หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า ๓ ปี จัดขึ้นสำหรับพ่อแม่
ผู้เลี้ยงดูหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการอบรมเลี้ยงดูและพัฒนาเด็ก
เพื่อใช้เป็นแนวทางในการอบรมเลี้ยงดูและจัดประสบการณ์การเรียนรู้อย่างเหมาะสมกับเด็กเป็นรายบุคคล
จุดหมาย
การพัฒนาเด็กอายุต่ำกว่า ๓ ปี
มุ่งส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม
และสติปัญญาที่เหมาะสมกับวัย ความสามารถ ความสนใจ และความแตกต่างระหว่างบุคคล
เพื่อให้เด็กมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ดังนี้
๑. ร่างกายเจริญเติบโตตามวัยและมีสุขภาพดี
๒. ใช้อวัยวะของร่างกายได้คล่องแคล่วประสานสัมพันธ์กัน
๓. มีความสุขและแสดงออกทางอารมณ์ได้เหมาะสมกับวัย
๔. รับรู้และสร้างปฏิสัมพันธ์กับบุคคลและสิ่งแวดล้อมรอบตัว
๕. ช่วยเหลือตนเองได้เหมาะสมกับวัย
๖. สื่อความหมายและใช้ภาษาได้เหมาะสมกับวัย
๗. สนใจเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว
การจัดประสบการณ์
การจัดประสบการณ์สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า ๓ ปี เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้จาก
ประสบการณ์ตรง เกิดความรู้ ทักษะ คุณธรรม จริยธรรม ได้พัฒนาทั้งด้านร่างกาย อารมณ์
จิตใจ สังคม และสติปัญญา ซึ่งสามารถจัดในรูปของกิจกรรมบูรณาการผ่านการเล่น ดังนี้
๑. หลักการจัดประสบการณ์
ควรคำนึงถึงสิ่งสำคัญต่อไปนี้
๑.๑ เลี้ยงดูเด็กให้มีสุขภาพที่ดีและปลอดภัย
๑.๒ มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับเด็กด้วยวาจาและท่าทีที่อบอุ่นเป็นมิตร
๑.๓ จัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้สอดคล้องกับธรรมชาติ
ความต้องการและพัฒนาการของเด็ก
๑.๔ จัดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย
เอื้อต่อการเรียนรู้ตามวัยของเด็ก
๑.๕ ประเมินการเจริญเติบโตและพัฒนาการเด็กอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ
๑.๖ ประสานความร่วมมือระหว่างครอบครัว
ชุมชน และสถานศึกษาในการพัฒนาเด็ก
๒. แนวการจัดประสบการณ์
๒.๑ ดูแลสุขภาพอนามัยและตอบสนองความต้องการพื้นฐานทางร่างกายและจิตใจของเด็ก
๒.๒ สร้างบรรยากาศของความรัก
ความอบอุ่น ความไว้วางใจ และความมั่นคงทางอารมณ์
๒.๓ จัดประสบการณ์ตรง
ให้เด็กได้เลือก ลงมือกระทำและเรียนรู้จากประสาทสัมผัสทั้ง ๕
และการเคลื่อนไหวผ่านการเล่น
๒.๔ เปิดโอกาสให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลที่แวดล้อมและสิ่งต่างๆ
รอบตัวเด็ก อย่างหลากหลาย
๒.๕ จัดสถานที่ วัสดุอุปกรณ์
เครื่องใช้และของเล่นที่สะอาด ปลอดภัยเหมาะสมกับเด็ก
๒.๖ ใช้การสังเกตและติดตามการเจริญเติบโตและพัฒนาการอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ
๒.๗ ให้ครอบครัว ชุมชน
และสถานศึกษามีส่วนร่วมในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับเด็ก
๓. การจัดกิจกรรมประจำวัน
กิจกรรมสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า ๓ ปี
มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการวางรากฐานการเรียนรู้และการพัฒนาทักษะพื้นฐานของเด็กทั้งทางร่างกาย
อารมณ์ จิตใจ สังคม และ สติปัญญา
การจัดกิจกรรมควรจัดให้สอดคล้องกับความต้องการ ความสนใจ และ ความสามารถของเด็กตามวัย โดยบูรณาการกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านการอบรมเลี้ยงดูตาม
วิถีชีวิตประจำวันและการเล่นของเด็กตามธรรมชาติที่เหมาะสมกับวัย ดังนี้
๓.๑ การฝึกสุขนิสัยและลักษณะนิสัยที่ดี
เป็นกิจกรรมที่สร้างเสริมสุขนิสัย ที่ดีในเรื่องการรับประทานอาหาร
การนอน การทำความสะอาดร่างกาย การขับถ่าย ตลอดจนปลูกฝังลักษณะนิสัยที่ดีในการดูแลสุขภาพอนามัยและการแสดงมารยาทที่สุภาพ
นุ่มนวล แบบไทย
๓.๒ การใช้ประสาทสัมผัสทั้ง ๕
เป็นกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นการรับรู้ผ่าน ประสาทสัมผัสทั้ง ๕ ในการมองเห็น
การได้ยินเสียง การลิ้มรส การได้กลิ่น และการสัมผัส จับต้องสิ่งต่างๆ
ที่แตกต่างกันในด้านขนาด รูปร่าง ความยาว สี น้ำหนัก และผิวสัมผัส เช่น
การเล่นมองตนเองกับกระจกเงา การเล่นของเล่นที่มีพื้นผิวแตกต่างกัน เป็นต้น
๓.๓ การฝึกการประสานสัมพันธ์ระหว่างมือ-ตา เป็นกิจกรรมที่ฝึกความ แข็งแรงของกล้ามเนื้อมือ
นิ้วมือให้พร้อมที่จะหยิบจับ ฝึกการทำงานอย่างสัมพันธ์กันระหว่างมือและตา
รวมทั้งฝึกให้เด็กรู้จักคาดคะเน หรือกะระยะทางของสิ่งต่างๆ
ที่อยู่รอบตัวเทียบกับตัวเองในลักษณะใกล้กับไกล เช่น มองโมบายส์ที่มีสีและเสียง
ร้อยลูกปัด เล่นพลาสติกสร้างสรรค์ เล่นหยอดบล็อกรูปทรงลงกล่อง ตอกหมุด โยนรับลูกบอล
ตักน้ำหรือทราย ใส่ภาชนะ เป็นต้น
๓.๔ การเคลื่อนไหวและการทรงตัว
เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการใช้กล้ามเนื้อแขนกับขา มือกับนิ้วมือ และส่วนต่างๆ
ของร่างกายในการเคลื่อนไหวหรือออกกำลังกาย ทุกส่วน
โดยการจัดให้เด็กเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อใหญ่-เล็ก
ตามความสามารถของวัย เช่น คว่ำ คลาน ยืน เดิน เล่นนิ้วมือ เคลื่อนไหวส่วนต่างๆ
ของร่างกายตามเสียงดนตรี วิ่งไล่จับ ปีนป่ายเครื่องเล่นสนาม เล่นชิงช้า ม้าโยก
ลากจูงของเล่นมีล้อ ขี่จักรยานสามล้อ เป็นต้น
๓.๕ การส่งเสริมด้านอารมณ์และจิตใจ
เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการเลี้ยงดู ในการตอบสนองความต้องการของเด็กด้านจิตใจ
โดยการจัดสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้เด็กเกิดความรู้สึกอบอุ่นและมีความสุข เช่น
อุ้ม โอบกอด ตอบสนองต่อความรู้สึกที่เด็กแสดงออก เป็นต้น
๓.๖ การส่งเสริมทักษะทางสังคม
เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการสร้างความสัมพันธ์กับพ่อแม่ ผู้เลี้ยงดู และบุคคลใกล้ชิด
โดยการพูดคุยหยอกล้อหรือเล่นกับเด็กหรือ พาเด็กไปเดินเล่นนอกบ้าน
พบปะเด็กอื่นหรือผู้ใหญ่ เช่น เล่นจ๊ะเอ๋ พาไปบ้านญาติ เป็นต้น
๓.๗ การส่งเสริมทักษะทางภาษา
เป็นกิจกรรมที่ฝึกให้เด็กได้เปล่งเสียงเลียนเสียงพูดของผู้คน เสียงสัตว์ต่างๆ
รู้จักชื่อเรียกของตนเอง ชื่อพ่อแม่หรือผู้คนใกล้ชิดและ ชื่อสิ่งต่างๆ รอบตัว
ตลอดจนรู้จักสื่อความหมายด้วยคำพูดและท่าทาง เช่น
ชี้ชวนและสอนให้รู้จักชื่อเรียกสิ่งต่างๆ จากของจริง เล่านิทานหรือร้องเพลงง่ายๆ
ให้ฟัง เป็นต้น
๓.๘ การส่งเสริมจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์
เป็นกิจกรรมที่ฝึกให้เด็กได้แสดงออกทางความคิดตามจินตนาการของตนเอง เช่น
ขีดเขียนวาดรูป เล่นสมมติ ทำกิจกรรมศิลปะ
เล่นของเล่นสร้างสรรค์ เป็นต้น
การใช้หลักสูตร
สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย พ่อแม่
ผู้เลี้ยงดูหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการอบรมเลี้ยงดูและพัฒนาเด็ก
จะนำหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงตามเจตนารมณ์ของหลักสูตร
ที่มุ่งเน้นการอบรมเลี้ยงดูและส่งเสริมการเรียนรู้ ควรดำเนินการดังนี้
๑. การใช้หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยสำหรับสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย
เด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง ๓ ปีควรได้รับการอบรมเลี้ยงดูจากพ่อแม่หรือบุคคลในครอบครัว
แต่เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน
ประกอบกับครอบครัวส่วนใหญ่มักจะเป็นครอบครัวเดี่ยว พ่อแม่ต้องนำเด็ก ไปรับการเลี้ยงดูในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยซึ่งเปรียบเสมือนบ้านที่สองของเด็ก
ดังนั้น ผู้บริหารสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย
และผู้เกี่ยวข้องในการเลี้ยงดูเด็ก
ควรดำเนินการใช้หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยอย่างมีประสิทธิภาพ
ตรงตามปรัชญาและหลักการของหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยที่มุ่งเน้นการอบรมเลี้ยงดูและส่งเสริมพัฒนาการทุกด้าน
รวมทั้งการประสานความ ร่วมมือระหว่างครอบครัว ชุมชน
และท้องถิ่นให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเด็ก
ดังนั้นสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยควรจัดให้มีการดำเนินการใช้หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย
ดังนี้
๑.๑ การเตรียมการใช้หลักสูตร
๑.๑.๑ ศึกษารวบรวมข้อมูลด้านต่างๆ
เช่น วิธีการอบรมเลี้ยงดูและความต้องการของพ่อแม่ ผู้ปกครอง
วัฒนธรรมและความเชื่อของท้องถิ่น ความพร้อมของ สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย
รวมทั้งหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย ฯลฯ
นำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อกำหนดเป้าหมายการจัดกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการเด็กแต่ละช่วงอายุ
๑.๑.๒ จัดหาผู้เลี้ยงดูเด็กหรือผู้สอนที่มีความรู้
ความสามารถและประสบการณ์ ตลอดจนมีเจตคติที่ดีต่อการพัฒนาเด็ก
และจัดให้มีเอกสารหลักสูตรและคู่มือต่างๆ อย่างเพียงพอที่จะใช้เป็นแนวทางดำเนินงาน
ตลอดจนพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย
และมีความเข้าใจในเป้าหมายของการพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างชัดเจน
๑.๒ การดำเนินการใช้หลักสูตร
การนำหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุตามปรัชญา
หลักการ และจุดหมาย มีแนวทางดำเนินงาน ดังนี้
๑.๒.๑ การจัดทำสาระของหลักสูตร
ควรดำเนินการดังต่อไปนี้
l ศึกษาจุดหมายหรือคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามที่หลักสูตรระบุถึงความสามารถหรือพฤติกรรมการเรียนรู้ที่ต้องเกิดขึ้นหลังจากเด็กได้รับประสบการณ์ที่
เหมาะสมในแต่ละช่วงอายุ
l กำหนดสาระที่ควรเรียนรู้ในแต่ละช่วงอายุอย่างกว้างๆ
ให้ครอบคลุมพัฒนาการทั้ง ๔ ด้าน โดยผ่านประสบการณ์สำคัญและมีลำดับขั้นตอนของ การเรียนรู้จากง่ายไปหายาก หรือจากสิ่งใกล้ตัวไปไกลตัว
l จัดทำแผนการจัดประสบการณ์พร้อมสื่อการเรียนรู้
โดยคำนึงถึงความยากง่ายต่อการรับรู้และเรียนรู้ตามความสามารถของเด็กแต่ละวัยและความแตกต่างทางสังคม-วัฒนธรรมโดยอาจประยุกต์ใช้สื่อที่ทำขึ้นเองได้
๑.๒.๒ การจัดประสบการณ์สำหรับเด็กต้องมุ่งเน้นการจัดประสบการณ์ที่ยึดเด็กเป็นสำคัญ
โดยคำนึงถึงการพัฒนาเด็กโดยองค์รวม การจัดกิจกรรมต่างๆ
ตามกิจวัตรประจำวันและการบูรณาการผ่านการเล่น
๑.๒.๓ การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้
สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยต้องจัดบรรยากาศที่อบอุ่นคล้ายบ้านหรือครอบครัว
ตลอดจนดูแลความปลอดภัยของสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอก
รวมทั้งจัดให้มีสื่อและอุปกรณ์ต่างๆ ที่หลากหลายเหมาะสมกับเด็ก
เพื่อสนับสนุนให้เด็กได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพและเรียนรู้อย่างมีความสุข
การจัดการศึกษาปฐมวัย (เด็กอายุต่ำกว่า ๓ ปี) สำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ
การจัดการศึกษาปฐมวัยสำหรับเด็กพิการ เด็กด้อยโอกาส
เด็กที่มีความสามารถพิเศษ
สามารถปรับคุณลักษณะที่พึงประสงค์ให้เหมาะสมกับศักยภาพของเด็กแต่ละประเภท โดยเฉพาะเด็กเล็กอายุต่ำกว่า ๓ ปี มีความเสี่ยงต่อสภาพความผิดปกติ
พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
หากพบความผิดปกติต้องช่วยเหลือบำบัด ฟื้นฟูโดยเร็วที่สุด
การเชื่อมต่อของการศึกษาปฐมวัย (เด็กอายุต่ำกว่า ๓ ปี) กับ การเรียนรู้ในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย
ก่อนที่เด็กอายุต่ำกว่า ๓ ปีจะเข้าสู่สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย
ควรมีการเตรียมตัว พ่อแม่ ผู้เลี้ยงดู
หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการอบรมเลี้ยงดูและพัฒนาเด็กในการสร้างรอยต่อ การเรียนรู้ของเด็กที่ได้ประสบการณ์จากบ้านสู่สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย
เพราะเด็กจะต้อง ปรับตัวในการสร้างความสัมพันธ์กับบุคคล
สถานที่ และสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างไปจากบ้านการเชื่อมต่อซึ่งจะมีผลให้เด็กได้รับการอบรมเลี้ยงดูและการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ
ครอบครัวและสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ควรปฏิบัติดังนี้
๑. ครอบครัว
๑.๑ รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็ก
เป็นสิ่งสำคัญมากในการส่งต่อการอบรมเลี้ยงดูและพัฒนาเด็ก ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กได้แก่
๑.๑.๑ ข้อมูลด้านการเจริญเติบโตทางร่างกาย
ได้แก่ ขนาด ความยาวเส้นรอบศีรษะ น้ำหนัก ส่วนสูงควรอยู่ในเกณฑ์ปกติ
หากพบว่ามีความผิดปกติ เช่น น้ำหนักน้อยอยู่ในเกณฑ์อันตราย
ต้องรีบแก้ปัญหาโดยปรึกษาแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
๑.๑.๒ ข้อมูลด้านพัฒนาการของเด็ก
ได้แก่ ความสามารถด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา
๑.๑.๓ ข้อมูลด้านสุขภาพและประวัติการเจ็บป่วย
ได้แก่ ภาวะโภชนาการ ประวัติการได้รับภูมิคุ้มกันโรค
บันทึกการเจ็บป่วยในแต่ละช่วงวัย
๑.๒ บทบาทพ่อแม่ ผู้เลี้ยงดู หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการอบรมเลี้ยงดูและพัฒนาเด็ก มีดังนี้
๑.๒.๑ ต้องมีความพร้อมในการให้ข้อมูลพื้นฐานของเด็ก
โดยให้ รายละเอียดตามผลการบันทึกในสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็กของกรมอนามัย
กระทรวงสาธารณสุขหรือของหน่วยงานอื่น
๑.๒.๒ เป็นแบบอย่างที่ดีของเด็กในการใช้ชีวิตครอบครัวอย่างอบอุ่นมั่นคง
มีการสื่อสารทางบวกระหว่างสมาชิกในครอบครัว มีการปฏิบัติต่อกันด้วยความรัก
ความเอื้ออาทร และการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีการใช้เหตุผลในการแก้ปัญหาต่างๆ
และมีคุณธรรมและจริยธรรมในการดำเนินชีวิต
๑.๒.๓ ต้องพิจารณาเลือกสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามมาตรฐานการเลี้ยงดูเด็กอายุต่ำกว่า
๓ ปี
๑.๒.๔ ตระหนักถึงความสำคัญที่จะร่วมมือกับสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยในการส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กตามวัย
๑.๒.๕ ให้ความร่วมมือ
ปฏิบัติตามคำแนะนำของสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย เลี้ยงดูเด็กด้วยการให้ความรัก
ความอบอุ่น ความเอื้ออาทร ความปลอดภัย และ ส่งเสริมให้เด็กมีอิสระในการทำสิ่งต่างๆ
ด้วยตนเอง ตลอดจนส่งเสริมให้เด็กมีจินตนาการและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
๑.๒.๖ ประสานความร่วมมือระหว่างบ้านและสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยในการพัฒนาเด็กไปในทิศทางเดียวกัน
๑.๒.๗ สร้างความคุ้นเคยระหว่างเด็กกับสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ก่อนที่จะให้เด็กเข้ารับการอบรมเลี้ยงดูในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย
๒. สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย
๒.๑ บุคลากรในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย
๒.๑.๑ บุคลากรทุกคนในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยต้องตระหนักถึงการสร้างบรรยากาศของความรัก
ความอบอุ่น มีความเป็นมิตร มีความเมตตาต่อเด็กและ ช่วยส่งเสริมให้เด็กเกิดความไว้วางใจผู้อื่น
อันเป็นพื้นฐานสำคัญของการปรับตัวเข้ากับ สภาพแวดล้อมใหม่
๒.๑.๒ บุคลากรทุกคนในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย
ควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็ก เช่น มีความเมตตา มีการใช้ภาษาที่สร้างสรรค์
มีกิริยามารยาทสุภาพ ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ ฯลฯ
๒.๒ การจัดกิจกรรม
๒.๒.๑ จัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เด็กเกิดความคุ้นเคยกับสิ่งแวดล้อมใหม่
ทั้งในด้านบุคคล ได้แก่ ครู เด็ก และบุคลากรอื่น ด้านสถานที่ วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้ให้โอกาสเด็กได้ทำกิจกรรมด้วยตนเอง
จัดเตรียมของเล่นและ สื่อเพื่อการเล่น ให้เด็กได้สำรวจ
ค้นคว้า ทดลองสิ่งใหม่ๆ ตามลำพังและเป็นกลุ่มในสถานที่ปลอดภัย
แต่ไม่ควรละทิ้งให้เด็กอยู่ตามลำพัง
๒.๒.๒ ให้คำชมเมื่อเด็กทำถูกต้อง
แต่ไม่ลงโทษหรือดุว่าอย่างรุนแรงเมื่อทำไม่ถูกและควรอธิบายให้เด็กเข้าใจ
๒.๒.๓ จัดกิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการทุกด้าน
และส่งเสริมให้เด็กรู้จักช่วยเหลือตนเองตามโอกาส
๒.๒.๔ จัดกิจกรรมที่สร้างสัมพันธภาพระหว่างบ้านกับสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างสม่ำเสมอจนเกิดความใกล้ชิดระหว่างบ้านกับสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย
หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย
สำหรับเด็กอายุ ๓ - ๕ ปี
หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยสำหรับเด็กอายุ ๓ - ๕ ปีเป็นการจัดการศึกษา ในลักษณะของการอบรมเลี้ยงดูและให้การศึกษา
เด็กจะได้รับการพัฒนาทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา
ตามวัยและความสามารถของแต่ละบุคคล
จุดหมาย
หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยสำหรับเด็กอายุ ๓ - ๕ ปี มุ่งให้เด็กมีพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา
ที่เหมาะสมกับวัย ความสามารถและความแตกต่างระหว่างบุคคล
จึงกำหนดจุดหมายซึ่งถือเป็นมาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ดังนี้
๑. ร่างกายเจริญเติบโตตามวัย และมีสุขนิสัยที่ดี
๒. กล้ามเนื้อใหญ่และกล้ามเนื้อเล็กแข็งแรง
ใช้ได้อย่างคล่องแคล่วและประสานสัมพันธ์กัน
๓. มีสุขภาพจิตดี และมีความสุข
๔. มีคุณธรรม จริยธรรม และมีจิตใจที่ดีงาม
๕. ชื่นชมและแสดงออกทางศิลปะ ดนตรี การเคลื่อนไหว
และรักการออกกำลังกาย
๖. ช่วยเหลือตนเองได้เหมาะสมกับวัย
๗. รักธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม
และความเป็นไทย
๘. อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุขและปฏิบัติตนเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
๙. ใช้ภาษาสื่อสารได้เหมาะสมกับวัย
๑๐. มีความสามารถในการคิดและการแก้ปัญหาได้เหมาะสมกับวัย
๑๑. มีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์
๑๒. มีเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้
และมีทักษะในการแสวงหาความรู้
ระยะเวลาเรียน
ใช้เวลาในการจัดประสบการณ์ให้กับเด็ก ๑ - ๓ ปีการศึกษาโดยประมาณ
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุของเด็กที่เริ่มเข้าสถานศึกษาหรือสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)