U
= Producing
หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน
พุทธศักราช 2551
หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน
พุทธศักราช 2551ซึ่งหลักสูตรแบบอิงมาตรฐาน (Standards-Based
Curricullum) อาจสรุปเป็นหัวใจ
ได้ดังนี้
วิสัยทัศน์
หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน มุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกคน
ซึ่งเป็นกำลังของชาติให้เป็นมนุษย์ที่มีความสมดุลทั้งด้านร่างกาย ความรู้ คุณธรรม
มีจิตสำนึกในความเป็นพลเมืองไทยและเป็นพลโลก
ยึดมั่นในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีความรู้และทักษะพื้นฐาน รวมทั้ง เจตคติ
ที่จำเป็นต่อการศึกษาต่อ
การประกอบอาชีพและการศึกษาตลอดชีวิต
โดยมุ่งเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญบนพื้นฐานความเชื่อว่า
ทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้เต็มตามศักยภาพ
หลักการมี
3 ประการดังนี้
1.
เป็นหลักสูตรการศึกษาเพื่อความเป็นเอกภาพของชาติ
มีจุดหมายและมาตรฐานการเรียนรู้ เป็นเป้าหมายสำหรับพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีความรู้
ทักษะ เจตคติ และคุณธรรมบนพื้นฐาน ของความเป็นไทยควบคู่กับความเป็นสากล
2.
เป็นหลักสูตรการศึกษาเพื่อปวงชน ที่ประชาชนทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างเสมอภาค
และมีคุณภาพ
3.
เป็นหลักสูตรการศึกษาที่สนองการกระจายอำนาจ
ให้สังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
ให้สอดคล้องกับสภาพและความต้องการของท้องถิ่น
4.
เป็นหลักสูตรการศึกษาที่มีโครงสร้างยืดหยุ่นทั้งด้านสาระการเรียนรู้ เวลาและการจัด การเรียนรู้
5.
เป็นหลักสูตรการศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
6.
เป็นหลักสูตรการศึกษาสำหรับการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย สามารถเทียบโอนผลการเรียนรู้ และประสบการณ์
จุดหมาย
มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี
มีปัญญา มีความสุข มีศักยภาพในการศึกษาต่อ และประกอบอาชีพ
ได้กำหนดเป็นจุดหมายเพื่อให้เกิดกับผู้เรียน เมื่อจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดังนี้
1. มีคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์
เห็นคุณค่าของตนเอง มีวินัยและปฏิบัติตนตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา
หรือศาสนาที่ตนนับถือ ยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
2. มีความรู้ ความสามารถในการสื่อสาร
การคิด การแก้ปัญหา การใช้เทคโนโลยี และมีทักษะชีวิต
3. มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี
มีสุขนิสัย และรักการออกกำลังกาย
4. มีความรักชาติ มีจิตสำนึกในความเป็นพลเมืองไทยและพลโลก
ยึดมั่นในวิถีชีวิตและ การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
5. มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย
การอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม มีจิตสาธารณะที่มุ่งทำประโยชน์และสร้างสิ่งที่ดีงามในสังคม
และอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข
สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน
และคุณลักษณะอันพึงประสงค์
มุ่งเน้นพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนดไว้
5 ประการ ดังนี้
1. ความสามารถในการสื่อสาร เป็นความสามารถในการรับและส่งสาร
มีวัฒนธรรมในการใช้ภาษาถ่ายทอดความคิด ความรู้ความเข้าใจ ความรู้สึก
และทัศนะของตนเองเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและประสบการณ์อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเองและสังคมรวมทั้งการเจรจาต่อรองเพื่อขจัดและลดปัญหาความขัดแย้งต่าง
ๆ การเลือกรับหรือไม่รับข้อมูลข่าวสารด้วยหลักเหตุผลและความถูกต้อง ตลอดจนการเลือกใช้วิธีการสื่อสาร
ที่มีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อตนเองและสังคม
2. ความสามารถในการคิด
เป็นความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การคิดสังเคราะห์ การคิด อย่างสร้างสรรค์ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และการคิดเป็นระบบ
เพื่อนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้หรือสารสนเทศเพื่อการตัดสินใจเกี่ยวกับตนเองและสังคมได้อย่างเหมาะสม
3. ความสามารถในการแก้ปัญหา
เป็นความสามารถในการแก้ปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ
ที่เผชิญได้อย่างถูกต้องเหมาะสมบนพื้นฐานของหลักเหตุผล คุณธรรมและข้อมูลสารสนเทศ
เข้าใจความสัมพันธ์และการเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์ต่าง ๆ ในสังคม แสวงหาความรู้
ประยุกต์ความรู้มาใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหา และมีการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น
ต่อตนเอง สังคมและสิ่งแวดล้อม
4. ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต เป็นความสามารถในการนำกระบวนการต่าง ๆ
ไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน การเรียนรู้ด้วยตนเอง
การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง การทำงาน
และการอยู่ร่วมกันในสังคมด้วยการสร้างเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคล
การจัดการปัญหาและความขัดแย้งต่าง ๆ อย่างเหมาะสม การปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและสภาพแวดล้อม
และการรู้จักหลีกเลี่ยงพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ที่ส่งผลกระทบต่อตนเองและผู้อื่น
5. ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี
เป็นความสามารถในการเลือก และใช้ เทคโนโลยีด้านต่าง ๆ
และมีทักษะกระบวนการทางเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาตนเองและสังคม ในด้านการเรียนรู้
การสื่อสาร การทำงาน
การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ถูกต้อง เหมาะสม และมีคุณธรรม
คุณลักษณะอันพึงประสงค์
มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์
เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข ในฐานะเป็นพลเมืองไทยและพลโลก ดังนี้
1.
รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์
2.
ซื่อสัตย์สุจริต
3.
มีวินัย
4.
ใฝ่เรียนรู้
5.
อยู่อย่างพอเพียง
6.
มุ่งมั่นในการทำงาน
7.
รักความเป็นไทย
8.
มีจิตสาธารณะ
มาตรฐานการเรียนรู้
การพัฒนาผู้เรียนให้เกิดความสมดุล
ต้องคำนึงถึงหลักพัฒนาการทางสมองและพหุปัญญา ได้กำหนดให้ผู้เรียนเรียนรู้ 8
กลุ่มสาระการเรียนรู้ ดังนี้
1.
ภาษาไทย
2.
คณิตศาสตร์
3.
วิทยาศาสตร์
4.
สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม
5.
สุขศึกษาและพลศึกษา
6.
ศิลปะ
7.
การงานอาชีพและเทคโนโลยี
8.
ภาษาต่างประเทศ
ในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ได้กำหนดมาตรฐานการเรียนรู้เป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
มาตรฐานการเรียนรู้ระบุสิ่งที่ผู้เรียนพึงรู้
ปฏิบัติได้ มีคุณธรรมจริยธรรม
และค่านิยม
ที่พึงประสงค์เมื่อจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน
นอกจากนั้นมาตรฐานการเรียนรู้ยังเป็นกลไกสำคัญ
ในการขับเคลื่อนพัฒนาการศึกษาทั้งระบบ
ตัวชี้วัด
ตัวชี้วัดระบุสิ่งที่นักเรียนพึงรู้และปฏิบัติได้
รวมทั้งคุณลักษณะของผู้เรียนในแต่ละระดับชั้น ซึ่งสะท้อนถึงมาตรฐานการเรียนรู้
มีความเฉพาะเจาะจงและมีความเป็นรูปธรรม
นำไปใช้ในการกำหนดเนื้อหา
จัดทำหน่วยการเรียนรู้ จัดการเรียนการสอน
และเป็นเกณฑ์สำคัญสำหรับการวัดประเมินผลเพื่อตรวจสอบคุณภาพผู้เรียน
1. ตัวชี้วัดชั้นปี
เป็นเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียนแต่ละชั้นปีในระดับการศึกษาภาคบังคับ
(ประถมศึกษาปีที่ 1 – มัธยมศึกษาปีที่ 3)
2. ตัวชี้วัดช่วงชั้น
เป็นเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย(มัธยมศึกษาปีที่
4- 6)
หลักสูตรได้มีการกำหนดรหัสกำกับมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด
เพื่อความเข้าใจและให้สื่อสารตรงกัน ดังนี้
ว
1.1 ป. ½
ป.1/2 ตัวชี้วัดชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ข้อที่ 2
1.1 สาระที่ 1 มาตรฐานข้อที่ 1
ว กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
ต
2.2 ม.4-6/ 3
ม.4-6/3 ตัวชี้วัดชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ข้อที่ 3
2.3 สาระที่ 2 มาตรฐานข้อที่ 2
ต กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ
กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
1.กิจกรรมแนะแนว
2.กิจกรรมนักเรียน
3.
กิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์
หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยพ.ศ.
2546
ปรัชญาการศึกษาปฐมวัย
การศึกษาปฐมวัยเป็นการพัฒนาเด็ก
ตั้งแต่แรกเกิดถึง 5 ปี* บนพื้นฐาน
การอบรมเลี้ยงดูและการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ ที่สนองต่อธรรมชาติ
และพัฒนาการของเด็กแต่ละคน ตาม ศักยภาพ ภายใต้บริบทสังคม-วัฒนธรรม
ที่เด็กอาศัยอยู่ ด้วยความรัก ความเอื้ออาทร และความเข้าใจของทุกคน
เพื่อสร้างรากฐานคุณภาพชีวิตให้เด็กพัฒนาไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
เกิดคุณค่าต่อตนเองและสังคม
หลักการ
เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการอบรมเลี้ยงดูและส่งเสริมพัฒนาการ
ตลอดจน การเรียนรู้อย่างเหมาะสม ด้วยปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเด็กกับพ่อแม่
เด็กกับผู้เลี้ยงดู
หรือบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการอบรมเลี้ยงดูและให้การศึกษาเด็กปฐมวัย
เพื่อให้เด็กมีโอกาสพัฒนาตนเองตามลำดับขั้นของพัฒนาการทุกด้าน อย่างสมดุล
และเต็มตามศักยภาพ โดยกำหนดหลักการ ดังนี้
1.
ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาการที่ครอบคลุมเด็กปฐมวัย ทุกประเภท
2.
ยึดหลักการอบรมเลี้ยงดูและให้การศึกษาที่เน้นเด็กเป็นสำคัญ
โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล และวิถีชีวิตของเด็กตามบริบทของชุมชน สังคม
และวัฒนธรรมไทย
3.
พัฒนาเด็กโดยองค์รวมผ่านการเล่นและกิจกรรมที่เหมาะสมกับวัย
4.
จัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้สามารถดำรงชีวิตประจำวันได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุข
5.
ประสานความร่วมมือระหว่างครอบครัว ชุมชน และสถานศึกษาในการพัฒนาเด็ก
หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย
หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า
3 ปี จัดขึ้นสำหรับพ่อแม่ ผู้เลี้ยงดูหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการอบรมเลี้ยงดูและพัฒนาเด็ก
เพื่อใช้เป็นแนวทางในการอบรมเลี้ยงดูและจัดประสบการณ์การเรียนรู้อย่างเหมาะสมกับเด็กเป็นรายบุคคล
จุดหมาย
การพัฒนาเด็กอายุต่ำกว่า
3 ปี มุ่งส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม
และสติปัญญาที่เหมาะสมกับวัย ความสามารถ ความสนใจ และความแตกต่างระหว่างบุคคล
เพื่อให้เด็กมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ดังนี้
1.
ร่างกายเจริญเติบโตตามวัยและมีสุขภาพดี
2.
ใช้อวัยวะของร่างกายได้คล่องแคล่วประสานสัมพันธ์กัน
3.
มีความสุขและแสดงออกทางอารมณ์ได้เหมาะสมกับวัย
4.
รับรู้และสร้างปฏิสัมพันธ์กับบุคคลและสิ่งแวดล้อมรอบตัว
5.
ช่วยเหลือตนเองได้เหมาะสมกับวัย
6.
สื่อความหมายและใช้ภาษาได้เหมาะสมกับวัย
7.
สนใจเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว
การจัดประสบการณ์สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้จาก ประสบการณ์ตรง เกิดความรู้ ทักษะ คุณธรรม
จริยธรรม ได้พัฒนาทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา
ซึ่งสามารถจัดในรูปของกิจกรรมบูรณาการผ่านการเล่น ดังนี้
1.
หลักการจัดประสบการณ์ ควรคำนึงถึงสิ่งสำคัญต่อไปนี้
1.1
เลี้ยงดูเด็กให้มีสุขภาพที่ดีและปลอดภัย
1.2
มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับเด็กด้วยวาจาและท่าทีที่อบอุ่นเป็นมิตร
1.3
จัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้สอดคล้องกับธรรมชาติ ความต้องการและพัฒนาการของเด็ก
1.4
จัดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย เอื้อต่อการเรียนรู้ตามวัยของเด็ก
1.5
ประเมินการเจริญเติบโตและพัฒนาการเด็กอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ
1.6
ประสานความร่วมมือระหว่างครอบครัว ชุมชน และสถานศึกษาในการพัฒนาเด็ก
2.
แนวการจัดประสบการณ์
2.1
ดูแลสุขภาพอนามัยและตอบสนองความต้องการพื้นฐานทางร่างกายและจิตใจของเด็ก
2.2
สร้างบรรยากาศของความรัก ความอบอุ่น ความไว้วางใจ และความมั่นคงทางอารมณ์
2.3
จัดประสบการณ์ตรง ให้เด็กได้เลือก ลงมือกระทำและเรียนรู้จาก ประสาทสัมผัสทั้ง 5 และการเคลื่อนไหวผ่านการเล่น
2.4
เปิดโอกาสให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลที่แวดล้อมและสิ่งต่างๆ รอบตัวเด็ก
อย่างหลากหลาย
2.5
จัดสถานที่ วัสดุอุปกรณ์ เครื่องใช้และของเล่นที่สะอาด ปลอดภัย เหมาะสมกับเด็ก
2.6
ใช้การสังเกตและติดตามการเจริญเติบโตและพัฒนาการอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ
2.7
ให้ครอบครัว ชุมชน และสถานศึกษามีส่วนร่วมในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับเด็ก
3.
การจัดกิจกรรมประจำวัน
กิจกรรมสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า
3 ปี มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการวางรากฐานการเรียนรู้และการพัฒนาทักษะพื้นฐานของเด็กทั้งทางร่างกาย
อารมณ์ จิตใจ สังคม และ สติปัญญา การจัดกิจกรรมควรจัดให้สอดคล้องกับความต้องการ
ความสนใจ และ ความสามารถของเด็กตามวัย
โดยบูรณาการกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านการอบรมเลี้ยงดูตาม
วิถีชีวิตประจำวันและการเล่นของเด็กตามธรรมชาติที่เหมาะสมกับวัย ดังนี้
3.1
การฝึกสุขนิสัยและลักษณะนิสัยที่ดี เป็นกิจกรรมที่สร้างเสริมสุขนิสัย
ที่ดีในเรื่องการรับประทานอาหาร การนอน การทำความสะอาดร่างกาย การขับถ่าย
ตลอดจนปลูกฝังลักษณะนิสัยที่ดีในการดูแลสุขภาพอนามัยและการแสดงมารยาทที่สุภาพ
นุ่มนวล แบบไทย
3.2
การใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 เป็นกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นการรับรู้ผ่าน
ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ในการมองเห็น การได้ยินเสียง การลิ้มรส
การได้กลิ่น และการสัมผัส จับต้องสิ่งต่างๆ ที่แตกต่างกันในด้านขนาด รูปร่าง
ความยาว สี น้ำหนัก และผิวสัมผัส เช่น การเล่นมองตนเองกับกระจกเงา
การเล่นของเล่นที่มีพื้นผิวแตกต่างกัน เป็นต้น
3.3
การฝึกการประสานสัมพันธ์ระหว่างมือ-ตา เป็นกิจกรรมที่ฝึกความ
แข็งแรงของกล้ามเนื้อมือ นิ้วมือให้พร้อมที่จะหยิบจับ
ฝึกการทำงานอย่างสัมพันธ์กันระหว่างมือและตา รวมทั้งฝึกให้เด็กรู้จักคาดคะเน
หรือกะระยะทางของสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเทียบกับตัวเองในลักษณะใกล้กับไกล เช่น
มองโมบายส์ที่มีสีและเสียง ร้อยลูกปัด เล่นพลาสติกสร้างสรรค์
เล่นหยอดบล็อกรูปทรงลงกล่อง ตอกหมุด โยนรับลูกบอล ตักน้ำหรือทราย ใส่ภาชนะ เป็นต้น
3.4
การเคลื่อนไหวและการทรงตัว เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการใช้กล้ามเนื้อแขนกับขา
มือกับนิ้วมือ และส่วนต่างๆ ของร่างกายในการเคลื่อนไหวหรือออกกำลังกาย ทุกส่วน
โดยการจัดให้เด็กเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อใหญ่-เล็ก ตามความสามารถของวัย เช่น คว่ำ
คลาน ยืน เดิน เล่นนิ้วมือ เคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกายตามเสียงดนตรี
วิ่งไล่จับ ปีนป่ายเครื่องเล่นสนาม เล่นชิงช้า ม้าโยก ลากจูงของเล่นมีล้อ
ขี่จักรยานสามล้อ เป็นต้น
3.5
การส่งเสริมด้านอารมณ์และจิตใจ เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการเลี้ยงดู
ในการตอบสนองความต้องการของเด็กด้านจิตใจ
โดยการจัดสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้เด็กเกิดความรู้สึกอบอุ่นและมีความสุข เช่น
อุ้ม โอบกอด ตอบสนองต่อความรู้สึกที่เด็กแสดงออก เป็นต้น
3.6
การส่งเสริมทักษะทางสังคม เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการสร้างความสัมพันธ์กับพ่อแม่
ผู้เลี้ยงดู และบุคคลใกล้ชิด โดยการพูดคุยหยอกล้อหรือเล่นกับเด็กหรือ
พาเด็กไปเดินเล่นนอกบ้าน พบปะเด็กอื่นหรือผู้ใหญ่ เช่น เล่นจ๊ะเอ๋ พาไปบ้านญาติ
เป็นต้น
3.7
การส่งเสริมทักษะทางภาษา เป็นกิจกรรมที่ฝึกให้เด็กได้เปล่งเสียง
เลียนเสียงพูดของผู้คน เสียงสัตว์ต่างๆ รู้จักชื่อเรียกของตนเอง
ชื่อพ่อแม่หรือผู้คนใกล้ชิดและ ชื่อสิ่งต่างๆ รอบตัว
ตลอดจนรู้จักสื่อความหมายด้วยคำพูดและท่าทาง เช่น
ชี้ชวนและสอนให้รู้จักชื่อเรียกสิ่งต่างๆ จากของจริง เล่านิทานหรือร้องเพลงง่ายๆ
ให้ฟัง เป็นต้น
3.8
การส่งเสริมจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์
เป็นกิจกรรมที่ฝึกให้เด็กได้แสดงออกทางความคิดตามจินตนาการของตนเอง เช่น
ขีดเขียนวาดรูป เล่นสมมติ ทำกิจกรรมศิลปะ เล่นของเล่นสร้างสรรค์ เป็นต้น
การใช้หลักสูตร
สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย พ่อแม่
ผู้เลี้ยงดูหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการอบรมเลี้ยงดูและพัฒนาเด็ก
จะนำหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงตามเจตนารมณ์ของหลักสูตร
ที่มุ่งเน้นการอบรมเลี้ยงดูและส่งเสริมการเรียนรู้ ควรดำเนินการดังนี้
1.
การใช้หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยสำหรับสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย
เด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 3 ปีควรได้รับการอบรมเลี้ยงดูจากพ่อแม่หรือบุคคลในครอบครัว
แต่เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ประกอบกับครอบครัวส่วนใหญ่มักจะเป็นครอบครัวเดี่ยว
พ่อแม่ต้องนำเด็ก
ไปรับการเลี้ยงดูในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยซึ่งเปรียบเสมือนบ้านที่สองของเด็ก ดังนั้น
ผู้บริหารสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย และผู้เกี่ยวข้องในการเลี้ยงดูเด็ก
ควรดำเนินการใช้หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยอย่างมีประสิทธิภาพ
ตรงตามปรัชญาและหลักการของหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยที่มุ่งเน้นการอบรมเลี้ยงดูและส่งเสริมพัฒนาการทุกด้าน
รวมทั้งการประสานความ ร่วมมือระหว่างครอบครัว ชุมชน
และท้องถิ่นให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเด็ก
ดังนั้นสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยควรจัดให้มีการดำเนินการใช้หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย
ดังนี้
1.1
การเตรียมการใช้หลักสูตร
1.1.1 ศึกษารวบรวมข้อมูลด้านต่างๆ เช่น
วิธีการอบรมเลี้ยงดูและความต้องการของพ่อแม่ ผู้ปกครอง
วัฒนธรรมและความเชื่อของท้องถิ่น ความพร้อมของ สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย
รวมทั้งหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย ฯลฯ นำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อกำหนดเป้าหมายการจัดกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการเด็กแต่ละช่วงอายุ
1.1.2 จัดหาผู้เลี้ยงดูเด็กหรือผู้สอนที่มีความรู้
ความสามารถและประสบการณ์ ตลอดจนมีเจตคติที่ดีต่อการพัฒนาเด็ก
และจัดให้มีเอกสารหลักสูตรและคู่มือต่างๆ อย่างเพียงพอที่จะใช้เป็นแนวทางดำเนินงาน
ตลอดจนพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย
และมีความเข้าใจในเป้าหมายของการพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างชัดเจน
1.2
การดำเนินการใช้หลักสูตร
การนำหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุตามปรัชญา
หลักการ และจุดหมาย มีแนวทางดำเนินงาน ดังนี้
1.2.1 การจัดทำสาระของหลักสูตร ควรดำเนินการดังต่อไปนี้
- ศึกษาจุดหมายหรือคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามที่หลักสูตรระบุถึงความสามารถหรือพฤติกรรมการเรียนรู้ที่ต้องเกิดขึ้นหลังจากเด็กได้รับประสบการณ์ที่
เหมาะสมในแต่ละช่วงอายุ
- กำหนดสาระที่ควรเรียนรู้ในแต่ละช่วงอายุอย่างกว้างๆ
ให้ครอบคลุมพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน
โดยผ่านประสบการณ์สำคัญและมีลำดับขั้นตอนของ การเรียนรู้จากง่ายไปหายาก
หรือจากสิ่งใกล้ตัวไปไกลตัว
- จัดทำแผนการจัดประสบการณ์พร้อมสื่อการเรียนรู้
โดยคำนึงถึงความยากง่ายต่อการรับรู้และเรียนรู้ตามความสามารถของเด็กแต่ละวัยและความแตกต่างทางสังคม-วัฒนธรรมโดยอาจประยุกต์ใช้สื่อที่ทำขึ้นเองได 1.2.2
การจัดประสบการณ์สำหรับเด็กต้องมุ่งเน้นการจัดประสบการณ์ที่ยึดเด็กเป็นสำคัญ
โดยคำนึงถึงการพัฒนาเด็กโดยองค์รวม การจัดกิจกรรมต่างๆ ตามกิจวัตรประจำวันและการบูรณาการผ่านการเล่น
1.2.3 การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้
สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยต้องจัดบรรยากาศที่อบอุ่นคล้ายบ้านหรือครอบครัว
ตลอดจนดูแลความปลอดภัยของสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอก
รวมทั้งจัดให้มีสื่อและอุปกรณ์ต่างๆ ที่หลากหลายเหมาะสมกับเด็ก เพื่อสนับสนุนให้เด็กได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพและเรียนรู้อย่างมีความสุข
การจัดการศึกษาปฐมวัย
(เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี)
สำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ
การจัดการศึกษาปฐมวัยสำหรับเด็กพิการ
เด็กด้อยโอกาส เด็กที่มีความสามารถพิเศษ สามารถปรับคุณลักษณะที่พึงประสงค์ให้เหมาะสมกับศักยภาพของเด็กแต่ละประเภท
โดยเฉพาะเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปี
มีความเสี่ยงต่อสภาพความผิดปกติ พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
หากพบความผิดปกติต้องช่วยเหลือบำบัด ฟื้นฟูโดยเร็วที่สุด
การเชื่อมต่อของการศึกษาปฐมวัย
(เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี) กับ
การเรียนรู้ในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย
ก่อนที่เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปีจะเข้าสู่สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ควรมีการเตรียมตัว พ่อแม่ ผู้เลี้ยงดู
หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการอบรมเลี้ยงดูและพัฒนาเด็กในการสร้างรอยต่อ
การเรียนรู้ของเด็กที่ได้ประสบการณ์จากบ้านสู่สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย เพราะเด็กจะต้อง
ปรับตัวในการสร้างความสัมพันธ์กับบุคคล สถานที่ และสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างไปจากบ้าน
การเชื่อมต่อซึ่งจะมีผลให้เด็กได้รับการอบรมเลี้ยงดูและการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ
ครอบครัวและสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ควรปฏิบัติดังนี้
1. ครอบครัว
1.1
รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็ก
เป็นสิ่งสำคัญมากในการส่งต่อการอบรมเลี้ยงดูและพัฒนาเด็ก
ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กได้แก่
1.1.1 ข้อมูลด้านการเจริญเติบโตทางร่างกาย ได้แก่ ขนาด
ความยาวเส้นรอบศีรษะ น้ำหนัก ส่วนสูงควรอยู่ในเกณฑ์ปกติ หากพบว่ามีความผิดปกติ
เช่น น้ำหนักน้อยอยู่ในเกณฑ์อันตราย
ต้องรีบแก้ปัญหาโดยปรึกษาแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
1.1.2 ข้อมูลด้านพัฒนาการของเด็ก ได้แก่
ความสามารถด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา
1.1.3 ข้อมูลด้านสุขภาพและประวัติการเจ็บป่วย ได้แก่
ภาวะโภชนาการ ประวัติการได้รับภูมิคุ้มกันโรค บันทึกการเจ็บป่วยในแต่ละช่วงวัย
1.2
บทบาทพ่อแม่ ผู้เลี้ยงดู หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการอบรมเลี้ยงดูและพัฒนาเด็ก
มีดังนี้
1.2.1 ต้องมีความพร้อมในการให้ข้อมูลพื้นฐานของเด็ก
โดยให้ รายละเอียดตามผลการบันทึกในสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็กของกรมอนามัย
กระทรวงสาธารณสุขหรือของหน่วยงานอื่น
1.2.2
เป็นแบบอย่างที่ดีของเด็กในการใช้ชีวิตครอบครัวอย่างอบอุ่นมั่นคง
มีการสื่อสารทางบวกระหว่างสมาชิกในครอบครัว มีการปฏิบัติต่อกันด้วยความรัก
ความเอื้ออาทร และการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีการใช้เหตุผลในการแก้ปัญหาต่างๆ
และมีคุณธรรมและจริยธรรมในการดำเนินชีวิต
1.2.3
ต้องพิจารณาเลือกสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามมาตรฐานการเลี้ยงดูเด็กอายุต่ำกว่า
๓ ปี
1.2.4
ตระหนักถึงความสำคัญที่จะร่วมมือกับสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยในการส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กตามวัย
1.2.5 ให้ความร่วมมือ
ปฏิบัติตามคำแนะนำของสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย เลี้ยงดูเด็กด้วยการให้ความรัก
ความอบอุ่น ความเอื้ออาทร ความปลอดภัย และ ส่งเสริมให้เด็กมีอิสระในการทำสิ่งต่างๆ
ด้วยตนเอง ตลอดจนส่งเสริมให้เด็กมีจินตนาการและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
1.2.6 ประสานความร่วมมือระหว่างบ้านและสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยในการพัฒนาเด็กไปในทิศทางเดียวกัน
1.2.7
สร้างความคุ้นเคยระหว่างเด็กกับสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย
ก่อนที่จะให้เด็กเข้ารับการอบรมเลี้ยงดูในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย
2. สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย
2.1
บุคลากรในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย
2.1.1 บุคลากรทุกคนในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยต้องตระหนักถึงการสร้างบรรยากาศของความรัก
ความอบอุ่น มีความเป็นมิตร มีความเมตตาต่อเด็กและ
ช่วยส่งเสริมให้เด็กเกิดความไว้วางใจผู้อื่น
อันเป็นพื้นฐานสำคัญของการปรับตัวเข้ากับ สภาพแวดล้อมใหม่
2.1.2 บุคลากรทุกคนในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ควรเป็นแบบอย่าง
ที่ดีให้กับเด็ก เช่น มีความเมตตา มีการใช้ภาษาที่สร้างสรรค์ มีกิริยามารยาทสุภาพ
ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ ฯลฯ
2.2
การจัดกิจกรรม
2.2.1
จัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เด็กเกิดความคุ้นเคยกับสิ่งแวดล้อมใหม่ ทั้งในด้านบุคคล
ได้แก่ ครู เด็ก และบุคลากรอื่น ด้านสถานที่ วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ
รวมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้ให้โอกาสเด็กได้ทำกิจกรรมด้วยตนเอง จัดเตรียมของเล่นและ
สื่อเพื่อการเล่น ให้เด็กได้สำรวจ ค้นคว้า ทดลองสิ่งใหม่ๆ
ตามลำพังและเป็นกลุ่มในสถานที่ปลอดภัย แต่ไม่ควรละทิ้งให้เด็กอยู่ตามลำพัง
2.2.2 ให้คำชมเมื่อเด็กทำถูกต้อง
แต่ไม่ลงโทษหรือดุว่าอย่างรุนแรงเมื่อทำไม่ถูกและควรอธิบายให้เด็กเข้าใจ
2.2.3 จัดกิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการทุกด้าน
และส่งเสริมให้เด็กรู้จักช่วยเหลือตนเองตามโอกาส
2.2.4
จัดกิจกรรมที่สร้างสัมพันธภาพระหว่างบ้านกับสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างสม่ำเสมอจนเกิดความใกล้ชิดระหว่างบ้านกับสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย
หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย
สำหรับเด็กอายุ 3 - 5 ปี
หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยสำหรับเด็กอายุ
3 - 5 ปีเป็นการจัดการศึกษา
ในลักษณะของการอบรมเลี้ยงดูและให้การศึกษา เด็กจะได้รับการพัฒนาทั้งด้านร่างกาย
อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา ตามวัยและความสามารถของแต่ละบุคคล
จุดหมาย
หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยสำหรับเด็กอายุ
3 - 5 ปี
มุ่งให้เด็กมีพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา
ที่เหมาะสมกับวัย ความสามารถและความแตกต่างระหว่างบุคคล
จึงกำหนดจุดหมายซึ่งถือเป็นมาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ดังนี้
1.
ร่างกายเจริญเติบโตตามวัย และมีสุขนิสัยที่ดี
2.
กล้ามเนื้อใหญ่และกล้ามเนื้อเล็กแข็งแรง
ใช้ได้อย่างคล่องแคล่วและประสานสัมพันธ์กัน
3.
มีสุขภาพจิตดี และมีความสุข
4.
มีคุณธรรม จริยธรรม และมีจิตใจที่ดีงาม
5.
ชื่นชมและแสดงออกทางศิลปะ ดนตรี การเคลื่อนไหว และรักการออกกำลังกาย
6.
ช่วยเหลือตนเองได้เหมาะสมกับวัย
7.
รักธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และความเป็นไทย
8.
อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุขและปฏิบัติตนเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
9.
ใช้ภาษาสื่อสารได้เหมาะสมกับวัย
10.
มีความสามารถในการคิดและการแก้ปัญหาได้เหมาะสมกับวัย
11.
มีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์
12.
มีเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้ และมีทักษะในการแสวงหาความรู้
ระยะเวลาเรียน
ใช้เวลาในการจัดประสบการณ์ให้กับเด็ก
1 - 3 ปีการศึกษาโดยประมาณ
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุของเด็กที่เริ่มเข้าสถานศึกษาหรือสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น